X

กฟผ.ชี้แจง ฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลน้ำไหลเข้าเขื่อนวชิราลงกรณสะสมสูงสุดในรอบ 34 ปี จำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่ม 

กฟผ. เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนวชิราลงกรณใกล้ชิด เหตุน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ สูงสุดในรอบ 34 ปี ชี้จำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มเพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้เหมาะสมยืนยันตรวจสอบเขื่อนตามมาตรฐานสากล มั่นใจเขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัยดี

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนวชิราลงกรณว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 มีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนวชิราลงกรณ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมมากที่สุดในรอบ 34 ปี โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2561) เขื่อนวชิราลงกรณมีปริมาณน้ำกักเก็บจำนวน 6,935 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุ ซึ่งเป็นระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ประมาณ 2 เมตร แต่ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 1,925 ล้าน ลบ.ม  และ

 

 

 

จากการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงพบว่า ยังคงมีแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำมีมติให้เขื่อนวชิราลงกรณปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเดิมวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. และต่อมาได้ลดเหลือวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. (เพื่อลดผลกระทบกับผู้ประกอบการท้ายน้ำ) โดยทยอยพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากเขื่อนจะต้องรองรับปริมาณน้ำไหลเข้าในช่วงฤดูฝนนี้รวมระยะเวลาอีกกว่า 2 เดือน ซึ่งการระบายน้ำในแต่ละครั้งจะส่งหนังสือแจ้งให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้าทุกครั้ง

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง กล่าวต่อว่า เขื่อนของ กฟผ. ทุกแห่งยังคงมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย มีการออกแบบก่อสร้างเขื่อนที่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม โดยตลอดอายุการใช้งานกำหนดให้มีการตรวจสอบเป็นประจำ โดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งการตรวจวัดด้วยสายตาและการตรวจวัดด้วยเครื่องมือเป็นประจำทุกวันและทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้เพื่อติดตามพฤติกรรมของเขื่อนตลอดเวลา เช่น การตรวจวัดการรั่วซึมของน้ำ  แรงดันน้ำภายในตัวเขื่อนและฐานราก การทรุดตัวและการเคลื่อนตัว อีกทั้งยังมีการตรวจสอบเขื่อนอย่างเป็นทางการทุก ๆ 2 ปี จากผู้เชี่ยวชาญพิเศษทุกสาขาอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมเขื่อนในเชิงลึก ทั้งนี้หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ จากคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าเขื่อนของ กฟผ. จะทำหน้าที่เก็บกักน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างปลอดภัย

“กฟผ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของเขื่อนวชิราลงกรณอย่างใกล้ชิดตลอด  24 ชั่วโมง รวมทั้งเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทานและคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมทั้งของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์ WATER.EGAT.CO.TH  หรือ www.vrk.egat.com และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย”

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สิทธิชัย สิขวัตร

สิทธิชัย สิขวัตร

ปริญาตรี วัฒนธรรมศึกษา สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช รักอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง