X

สุโขทัยเตือน! ผู้ปลูกมันสำปะหลังระวังโรคใบด่าง หลังพบระบาดพื้นที่ใกล้เคียง

31 ก.ค. 65 นายเนตร  สมบัติ เกษตรจังหวัดสุโขทัย มีความห่วงใยเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หลังพบการกลับมาระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังอีกครั้งใน 55 จังหวัด โดยมีจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งมีพื้นที่ติดกับสุโขทัย พบการระบาดในครั้งนี้ด้วย

โดยโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Sri Lankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) แพร่ระบาดได้จากท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ ลักษณะอาการมันสำปะหลังที่เป็นโรคจะมีใบด่างเหลือง เสียรูปทรง ยอดใบจะด่างเหลืองรุนแรง ลำต้นแคระแกร็น มันไม่สร้างหัว เชื้อไวรัสนี้สามารถทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบทั้งหมด ยังไม่มีสารเคมีที่ป้องกันหรือรักษาโรคได้ ซึ่งพบการระบาดใน 55 จังหวัด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดข้างเคียงอย่างกำแพงเพชร

สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย จึงได้ดำเนินการตามมาตรการที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดอย่างเคร่งครัดใน 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1) สร้างการรับรู้ โดยได้สั่งการและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ด้านอารักขาพืช เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ชี้แจงทำความเข้าใจให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบของโรคในทุกโอกาส 2) เฝ้าระวังและป้องกันการระบาด โดยให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงวิธีการสำรวจ ใช้เกณฑ์การรายงานพื้นที่ระบาดแบบใหม่ รวมถึงการจัดทำแปลงพยากรณ์เตือนการระบาด ส่งเสริมการใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่าง ได้แก่ ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 90 งดการใช้พันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ พันธุ์ CMR 43-08-89 และพันธุ์ระยอง 11 รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตแปลงพันธุ์สะอาด 3) ควบคุมการระบาด ด้วยการทำลายต้นเป็นโรค โดยใช้หลักเกณฑ์แบบใหม่ ที่ทำลายเฉพาะต้นที่เป็นโรค ควบคุมการแพร่กระจายของแมลงหวี่ขาวยาสูบที่เป็นพาหะนำโรค และสร้างข้อตกลงร่วมกันของชุมชน

สำหรับมาตรการที่ 4-6 เป็นมาตรการเสริมการป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบด้วย 4) ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตามระเบียบกระทรวงการคลัง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง 5) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี ลดการแพร่กระจายของโรค และ 6) ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย จึงขอความร่วมมือเกษตรกรสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังของตนเองอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ โดยสำรวจทุกต้น หากพบอาการผิดปกติ เช่น ใบหงิกเสียรูปทรง ใบอ่อนมีขนาดเล็กลง ยอดหงิก ต้นแคระแกร็น ให้เร่งทำลายต้นเป็นโรค ด้วยวิธีการที่แนะนำ 3 วิธี ได้แก่ วิธีฝังกลบ วิธีบดสับ หรือวิธีใส่ถุงดำมัดปากให้แน่น แล้วนำไปตากแดดจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ทราบทันที

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน