X

น่ารัก!รวมคลิปสำเนียงสุโขทัย ภาษาถิ่นอันมีเสน่ห์ สืบทอดมานานกว่า 700 ปี

23 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดสุโขทัยนอกจากโดดเด่นในเรื่องของมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณเก่าแก่ และประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ที่คนทั้งโลกรู้จัก ก็ยังมีเอกลักษณ์ด้านภาษาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 700 ปี สำเนียงเหน่อ พูดปุ๊บรู้เลยเป็นคนสุโขทัยแน่นอน

นายสมชาย  เดือนเพ็ญ รองปลัดเทศบาลตำบลในเมือง/นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นฯ และผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มจังหวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรม จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า ภาษาถิ่นสุโขทัยถือเป็นตัวชี้วัดความเป็นมรดกโลกอย่างหนึ่ง เพราะว่าเส้นภาษาระหว่างล้านนากับอาณาจักรสุโขทัย อยู่ที่คำว่า “ลำ” กับคำว่า “อร๋อย” ถ้าหมู่บ้านไหนพูดอร๋อย นั่นคือภาษาถิ่นสุโขทัย แต่ถ้าหมู่บ้านไหนพูดว่าลำ (อร่อย) นั่นคือภาษาถิ่นล้านนา

จากการสำรวจพบว่าภาษาถิ่นสุโขทัย ไม่ได้มีพูดเฉพาะในจังหวัดสุโขทัยเท่านั้น แต่ยังพูดกันใน ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ , ต.ป่ามะม่วง อ.เมืองตาก , อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร , ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ และที่ ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีการละเล่นมังคละเภรี และมีประเพณีกินสี่ถ้วยในงานแต่งเหมือนผู้คนในแผ่นดินพระร่วงอีกด้วย ทำให้ทราบว่าภาษาถิ่นสุโขทัยสืบย้อนยาวไกลถึงสมัยสุโขทัยกว่า 700 ปี เพราะหมู่บ้านเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย แต่ยังคงดำรงสำเนียงภาษาสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน

สำเนียงสุโขทัยมีวิธีสังเกต คือ จะผันเสียงเอกเป็นจัตวา ผันจัตวาเป็นเอก เช่น แกงไก๋ใส๋มะเขื่อพวง , เสือเป็นเสื่อ , เสื่อเป็นเสือ และบางคำก็เก่าแก่มีรากเหง้ามาจากภาษาเขมร เช่น ปลาเห็ด หรือทอดมัน เขมรเรียก “ปรอเหิต” หมายถึงลูกชิ้น หรืออาหารที่เอาเนื้อสับ ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วทำให้สุก และคำว่า “ด็อก” หรือตุ้มหู กับคำว่า “โม่โม่” ที่คนสุโขทัยใช้เรียกสุนัขให้มากินข้าว ในภาษาเขมรคือ “โมซีบาย” หมายถึงมากินข้าว

นอกจากนี้ ยังมีคำอื่นๆที่คนสุโขทัยพูดกัน เช่น ขี้ปุ๋น (ฝรั่ง) , กะจี้ (ตะขบ) , ด็อก (ตุ้มหู) , ลุด (ลิปสติก) , ยางวง (หนังยาง) , ใบซุทิ้น (ปฏิทิน) , ปลาเห็ด (ทอดมัน) , ส่ารพี (ทัพพี) , ไน่ (ละลาย) , สุ๋หั่ว (สระผม) , ลูกแอ๊ (ลูกควาย) , งัว (วัว) , อิ๊โจ๋ (ลูกสุนัข) , ตอดตอ (ตุ๊กแก) , ตุ๊กแก้ม (จิ้งจก) , แมงบี้ (ผีเสื้อ) , เส้นแกงร้อน (วุ้นเส้น) , รถเบ๋าะ (รถบัส) , เรือบิน (เครื่องบิน) , กะบวก (หลุม) , คุ (ถังน้ำ) , มุ่น (ลอด) , นุง (ไม่กรอบ) , หยูด (เหี่ยว) และไปเอ๊ง (ไป) เป็นต้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน