X

สุดยื้อ!! ลูกช้างวัย 3 ปี ถูกบ่วงกับดักสัตว์ ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลลึกล้มแล้ว

ลูกช้างล้ม!!! เจ้าหน้าที่เร่งตรวจหาสาเหตุ​อย่างละเอียด​ เบื้องต้นพบติดเชื้อจากแผลติดบ่วงที่ขา​ ด้านสัตวแพทย์ส่งชิ้นเนื้อตรวจหาสาเหตุโรค ​(EEHV)​ เนื่องจากพบช่องปากมีจุดเลือดออก​

ไม่พลาดทุกกระแสร้อนชลบุรี-พัทยา กดรับข่าว “พัทยานิวส์”ผ่านไลน์ได้แล้ววันนี้
เพิ่มเพื่อน

เฟซบุ๊ก ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อความ สืบเนื่องจากวานนี้( 25 ก.ย. 2562)​ ทีมสัตวแพทย์ประจำ สวป.สบอ.2 (ศรีราชา)​ สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี หัวหน้าและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เจ้าหน้าที่ฐานปฏิบัติการป้องกันและรักษาป่า ที่ ชบ. 1 (คลองกุ่ม)​ ผู้กำกับการและเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ่อทอง จ.ชลบุรี เข้าพื้นที่ชายป่าเขาใหญ่ ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี เพื่อตรวจสอบและรักษาลูกช้างป่า เพศผู้ น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัมมีบ่วงรัดแน่นบริเวณขาหน้าซ้าย (ซึ่งเป็นลูกช้างป่าตัวเดิมที่ติดตามตัวมาจากพื้นที่ป่าสีระมัน เขาชะเมา จ.ระยอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งตอนนั้นมีแผลติดบ่วงแล้ว แต่ไม่สามารถยิงยาซึมได้เนื่องจากลูกช้างป่าได้วิ่งเข้าพื้นที่ป่าลึกในลักษณะสูงชัน)​

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบลูกช้างป่ามีลักษณะซึม อ่อนเพลีย เนื่องจากร่างกายของสัตว์มีสภาพค่อนข้างอ่อนเพลียซึ่งเกิดจากแผลติดเชื้อมาเป็นระยะเวลานาน แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าใกล้ได้ และมีลักษณะไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่เมื่อเดินเข้าใกล้​เจ้าหน้าที่ทำการยิงยาซึมด้วยปริมาณยาที่น้อยกว่าที่ให้ในสัตว์สุขภาพปกติ​ จากนั้นทำการตัดบ่วงลวดสลิง พบว่าแผลมีลักษณะลึกถึงกระดูกอ่อนบริเวณขาหน้าซ้าย มีน้ำหนองจำนวนมาก และพบแผลบริเวณเล็บเท้า มีหนองลึก เล็บใกล้จะหลุด​ ต่อมาจึงได้ทำการฉีดยาฆ่าเชื้อ ยาลดปวดลดอักเสบ วิตามินบำรุง น้ำตาลกลูโคส และให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ และใต้ผิวหนัง​ และทำการให้ยาแก้ฤทธิ์ยาซึม

ทั้งนี้ลูกช้างป่ามีลักษณะอ่อนเพลียมาก จึงไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเฝ้าดูแล รักษาลูกช้างป่าตลอดทั้งคืน​ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. ของวันนี้​(26 ก.ย.62)​ ลูกช้างป่าได้ล้มลงอย่างสงบ ทีมสัตวแพทย์พยายามกู้ชีพแล้วแต่ไม่สำเร็จ โดยจะมีการผ่าชันสูตร เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดกรองโรคที่สำคัญ ตรวจหาไวรัสและสารพิษเพิ่มเติม

สำหรับสาเหตุการตายเบื้องต้นคาดว่าเกิดจาก สภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด และตั้งข้อสงสัยสภาวะการตายอย่างเฉียบพลันในสภาวะภูมิคุ้มกันตก อาจเกิดจากโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้างป่า (EEHV)​ เนื่องจากพบว่าช่องปากมีจุดเลือดออก​ซึ่งจะมีการตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน