X

ชาวสวนพริกยอมรื้อกระท่อม พ่อเมืองยกให้เป็น​ ”ยามเฝ้าโบราณสถาน”

พระนครศรีอยุธยา-พ่อเมืองกรุงเก่าศูนย์ดำรงธรรม ช่วยชาวสวนพริก หลังปลูกกระท่อมถูกกรมศิลป์ฯ​ สั่งรื้อ หวั่นถูกแจ้งความดำเนินคดี ยกให้ชาวบบ้านเป็น​ ”ยามเฝ้าโบราณสถาน” รับปากตามความคืบหน้าทวงคืนเสาตะลุง ส่วนชาวบ้านลั่นไม่คืบหน้าจะจัดม๊อบยกระดับ พร้อมผูกคอตายประจานการทำงานของหน่วยงานรัฐ

หลังจากที่ชาวบ้านปักหลักรอคอย เพื่อทวงคืนหัวเสาตะลุง ที่ถูกกรมศิลปากรที่ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานอนุรักษ์ฟื้นฟูโบราณสถาน มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ ทำการตัดหัวเสาตะลุง ทั้งที่มีมานานนับร้อยปี ผ่านการบูรณะมาหลายครั้งก็มีหัว แต่จู่ๆ​ ก็ถูกตัดหัวเสาตะลุงด้านปีกกาออกไปทั้งหมด โดยอ้างหลักฐานฝรั่งตาน้ำข้าวที่ถ่ายภาพเอาไว้สมัยรัชกาลที่ 4 เก่ากว่าที่สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จเสียอีก …สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ และความไม่พอใจให้ชาวบ้านอย่างมาก จนกระทั่งมีการตั้งเต็นท์รับลงรายชื่อเพื่อคัดค้านและทวงคืน ซึ่งต่อมาชาวบ้านก็ได้ทำการรื้อเต๊นท์ที่ตั้งอยู่เดิมมาฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นที่ดินธนารักษ์ที่ทางวังช้างแลเพนียดของนายลายทองเหรียญ มีพันธ์ เช่าอยู่ จากนั้นได้ทำการปลูกกระท่อมสามหลังเพื่อที่ให้เข้ากับบรรยากาศความเป็นโบราณสถาน

แต่ทันทีที่สร้างเสร็จ ถูกกรมศิลปากรสั่งระงับทันที อีกทั้งขอให้ชาวบ้านตำบลสวนพริกได้ไปขออนุญาตก่อน นอกจากนี้ยังมีหนังสือข้ามห้วยจากกรมศิลปากร ไปให้ อบต.สวนพริกเข้าไปดูแล ซึ่งอันนี้ ..ไม่ถูกต้อง มันข้ามกรม ข้ามกระทรวงไปซะอย่างนั้น อีกทั้งเมื่อชาวบ้านไปยื่นขออนุญาต กรมศิลปากรโดยอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ก็มีหนังสือชี้แจงถึงความผิดในข้อหาบุกรุก ชาวบ้านเกิดความกลัว

ล่าสุด 17 ตค นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนางสยุมพร กุลสุข นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฯ และน.ส.สาลิสา จินดาวงศ์  ผ.อ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางไปพบกับกลุ่มชาวบ้านเพนียด ที่ปักหลักชุมนุมกันที่หน้าทางเข้าเพนียด หมู่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเรียกร้องทวงคืนหัวเสาตะลุง มาเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว ซึ่งล่าสุดอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้มีหนังสือให้รื้อถอนกระท่อมที่อยู่ด้านหน้า และชี้แจงข้อกฎหมายความผิดบุกรุกโบราณสถาน ทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจและเตรียมหารือในการยกระดับการเรียกร้องทวงคืน

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินทางไปถึงบริเวณกระท่อมที่ชาวบ้านปลูกอยู่ด้านทางเข้าเพนียด ได้พบกับกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวอยู่บริเวณดังกล่าวจำนวน 50 คน โดยมีนายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ประธานชมรมพระคชบาล นายสมบัติ สนธินาค ประธานเครือข่ายภาคประชาชน นายนพพร ขันธนิกร ผญบ.หมู่ 3 ต.สวนพริก นายเสรี ขันธนิกร อดีตผญบ.ม.3 ต.สวนพริก ให้คำแนะนำถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

นายเสรี อดีตผู้ใหญ่บ้านเปิดเผยว่า จากเดิมที่เกิดการร้องเรียนทวงคืนเสาตะลุง พวกตนได้ตั้งเต๊นท์เพื่อรับลงชื่อจากประชาชนในการร่วมทวงคืนหัวเสาตะลุง จนกระทั่งเมื่อประมาณสับดาห์ที่ผ่านมา ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะเดินทางมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเดินทางมา มีความหวังว่าท่านอาจจะมาดูปัญหาที่เพนียด จึงได้ช่วยกันเก็บเต็นท์ที่ข้างเพนียดย้ายข้ามถนนมาทั้งหมด แล้วปลดป้ายที่เขียนโจมตีการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วมาสร้างกระท่อมเล็กๆ ในฝั่งตรงข้ามเพื่อให้เข้ากับโบราณสถาน แต่ทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้มาสั่งระงับ ขอให้ชาวบ้านไปขออนุญาต ซึ่งชาวบ้านได้ไปยื่นหนังสือขออนุญาตเมื่อวันที่ 15 ตคที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าทางอุทยานฯได้มีหนังสือยืนยันให้รื้อ และแจ้งว่าจะมีความผิดเรื่องการบุกรุกโบราณสถาน ชาวบ้านจึงไม่สบายใจและร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม ขอให้ผู้ว่ามาให้คำแนะนำและรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนพวกตนจึงยินดีที่จะปฎิบัติตาม แต่หากว่าทางราชการไม่สนใจ หรือไม่ติดตามอย่างที่พูด พวกตนก็จะยกระดับการทวงคืนเรียกร้องอีก โดยคราวนี้ยืนยันว่าจะต้องมีความชัดเจนกว่าที่ผ่านมา โดยหากมีการดำเนินการกับพวกตน หรือออกหนังสือข่มขู่อีก พวกตนจะผูกคอตายประจานการทำงานของหน่วยงานที่ทำร้ายจิตใจชาวบ้าน

นายภานุ เปิดเผยหลังจากที่รับทราบปัญหาจากชาวบ้าน และได้เดินเข้าไปดูบริเวณตัวเพนียดคล้องช้างที่ด้านในเป็นเสาตะลุงที่มีหัวและข้างนอกปีกกาไม่มีหัว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯกล่าวว่า เข้าใจความรู้สึกของทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ และชาวบ้าน ต่างมีหน้าที่และความรู้สึก โดยกรมศิลปากรก็มีหลักฐานเรื่องภาพเก่า และต้องปฎิบัติตามรูปแบบและหลักฐานที่ได้มา ส่วนชาวบ้านหากมีเหตุผลมากกว่า หรือใหม่กว่า ก็สามารถยืนยันหักล้างกันได้ ซึ่งตนรับที่จะติดตามถามความคืบการดำเนินการเกี่ยวกับเสาตะลุงนี้ ตามกรอบของการดำเนินการ โดยให้ชาวบ้านรวมรวมข้อมูลให้กับตน หรือผ่านศูนย์ดำรงธรรมได้ นอกจากนี้ก็จะเชิญอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มาหารือแนวทางปฎิบัติตามนโยบายในการดำเนินงานโครงการต่างๆร่วมกัน  ซึ่งสิ่งที่ชาวสวนพริกทำคือความรักความหวงแหน สมกับเป็น ยามเฝ้าโบราณสถาน ของแผ่นดิน

ต่อมาหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางกลับ ชาวบ้านได้ช่วยกันรื้อถอนกระท่อม และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆออกทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย  และจะติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการสอบสวน และการดำเนินการต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ