X

กรมศิลปากรยอมรับฟังประชาสังคมทวงคืนหัวเสาตะลุง

           นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ร่วมกับสภาวัฒนธรรม จัดเวทีประชาสังคม กรมศิลปากรที่ 3 ร่วมวงยอมรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่ขอคืนหัวเสาตะลุง ยกให้ชาวสวนพริกเป็นชุมชนกล้าหาญ เตรียมยื่นอธิบดีพิจารณาอีกครั้ง

จากกรณีที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานเพนียดคล้องช้าง หมู่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนรูปแบบด้วยการตัดหัวบัวของเสาตะลุงที่อยู่ด้านนอก หรือส่วนของปีกกาออกทั้งหมด ทำให้ประชาชนทั่วไปแสดงความไม่พอใจ เรียกร้องทวงคืนหัวเสาตะลุง ทั้งนี้กรมศิลปากรอ้างว่าเป็นการซ่อมตามหลักฐานภาพถ่ายของต่างชาติในสมัยร.4 และร.5 ทั้งที่หลังจากรัชกาลที่ 5 มาจนปัจจุบันมีการซ่อมมาแล้วสามครั้ง และมีหัวบัวทั้งหมดทุกครั้ง ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจมีการรวมตัวและร้องเรียนไปในส่วนต่างๆ ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 10 มิ.ย. สภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดยนายสุเทพ ชูชัยยะ กรรมการสภาวัฒนธรรม ร่วมกับตัวแทนภาคประชาสังคมและชุมชนอำเภอต่างๆ จัดให้มีเวทีประชาสังคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และองค์กรส่วนท้องถิ่นในภาคประชาชน โดยมีนางศาริสา จินดาวงษ์ ผ.อ.สำนักศิลปากรที่ 3 มารับฟังปัญหา และมีพ.ต.อ.สง่า ธีระศรัญยานนท์ รองผบก.ภ.พระนครศรีอยุธยา มาร่วมสังเกตการณ์และรักษาความสงบ มีนักวิชาการอิสระ และตัวแทนภาคประชาชนมาผลัดเปลี่ยนกันแสดงทัศนคติ

บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยนายสุเทพ ชูชัยยะ กรรมการสภาวัฒนธรรม กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดเวทีประชาสังคม เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และถ่ายทอดความรู้สึก ร่วมทั้งหลักฐานเท่าที่ปรากฏ เพื่อให้ตัวแทนกรมศิลปากรนำไปเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาในการแก้ไขการบูรณะซ่อมแซมที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะดร.ดุลย์พิชัย โกมลวานิช นักวิชาการอิสระได้ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกรมศิลปากรเป็นผู้สร้างความเชื่อให้กับชาวบ้านเอง ทำให้ประชาชนและคนทั่วไปเชื่อว่าเสาตะลุงมีหัวมาตั้งแต่การซ่อมแซมหลายยุคหลายสมัย มาจนวันนี้ กลับมาบอกว่าไม่มีหัวเสาตะลุง แค่อ้างภาพถ่ายต่างชาติเป็นหลักฐาน กรมศิลปากรไม่ได้สร้างความเชื่อใหม่ให้กับชาวบ้าน แล้วจะไปโทษชาวบ้านได้อย่างไร ที่สำคัญการซ่อมแต่ละครั้งย่อมมีแบบ และลงนามโดยอธิบดีกรมศิลปากรทุกครั้ง หากครั้งนี้เสาตะลุงไม่มีหัว แสดงความแบบที่ผ่านมา และอธิบดีทุกยุคที่อนุมัติแบบให้ซ่อม เป็นแบบที่ผิดทั้งหมด ดังนั้นการที่มารับฟังประชาสังคมครั้งนี้ เป็นตัวอย่างของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลโบราณสถานที่อยู่ในชุมชน และหวังว่าจะได้นำเรื่องที่ประชาชนได้แสดงความเห็นนี้ไปสู่อธิบดีเพื่อแก้ปัญหา

ขณะที่นายสันติ ขันธนิกร แกนนำของชาวบ้านสวนพริก และนายนพพร ขันธนิกร ผญบ.หมู่ 3 ต.สวนพริก พร้อมตัวแทนชาวบ้าน ยังได้กล่าวลักษณะเดียวกัน เรียกร้องให้ใช้หลักรัฐศาสตร์ ในการออมชอมในการปรับการซ่อมบูรณะให้เสาตะลุงมีหัว คืนความรู้สึกให้กับประชาชน อีกทั้งยังยืนยันว่าการต่อสู้เรียกร้องครั้งนี้ไม่มีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงหรือช่วยนายทุนใดๆ ทั้งสิ้น

ด้านนางศาริสา จินดาวงษ์ ผ.อ.สำนักศิลปากรที่ 3 กล่าวว่า ตนพร้อมที่จะรับฟังและนำความคิดเห็นของประชาชนไปสู่ระดับจังหวัด และสู่ระดับกรม โดยเร็วเพื่อที่จะหาทางแก้ไขปัญหา โดยที่สำคัญจะนำไปเสนออธิบดี และมีความคืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ โดยยอมรับว่าชุมชนสวนพริกเข้มแข็งมาก และโบราณสถานไม่ได้เป็นของใคร ขอให้อดใจกันจะจับมือเดินไปด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านต่างแสดงความพอใจปรบมือให้ โดยท้ายที่สุดได้มีการยื่นหนังสือให้กับนางศาริสา เพื่อนำไปมอบให้กับอธิบดีกรมศิลปากรทบทวนต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ