X

ตัดหัวเสาตะลุงทำลายความรู้สึก

พระนครศรีอยุธยา-ประชาชนคนเฒ่าคนแก่และคนที่เคยเห็นเพนียดคล้องช้าง เรียกร้องให้กรมศิลปากรทบทวนการตัดหัวเสาตะลุง อุทยานประวัติศาสตร์ยันของเก่าไม่มีหัว ทั้งที่เว็บไซต์และสื่อของกรมศิลปะเองก็แสดงภาพของเสาตะลุงที่มีหัว..

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทางสื่อโซเชียล หลังจากเพจดังของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” สถานีข่าวเอทีวี ”นำเสนอคลิปความรู้สึกของ นัสซอ หรือมนัส เลิศศิริ อายุ 63 ปี อดีตช่างทำเสาตะลุง ซึ่งได้สังเกตเห็นว่าการซ่อมแซมเสาตะลุง บริเวณเพนียดคล้องช้าง ม.3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา ของกรมศิลปากร มีความไม่ชอบมาพากล โดยพบว่าเสาตะลุงมีลักษณะปลายเสาด้วน ไม่เหมือนเมื่อครั้งอดีตที่หัวเสาตะลุงจะมีดุมคล้ายดอกบัว อันเป็นวิธีการที่ไม่ให้น้ำท่วมขังจากยอดเสา ทำให้รักษาเนื้อไม้วิธีหนึ่ง ซึ่งนายมนัส หรือนัสซอ กล่าวว่า เขาได้มีโอกาสได้กลึงหัวเสาตะลุง ครั้งที่มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ ซึ่งการซ่อมแซมครั้งนั้น ก็เป็นการซ่อมแซมตามรูปแบบเดิม และเห็นว่ามีลักษณะของเสาตะลุงที่มีหัวดุมอยู่แล้ว โดยเห็นมาตั้งแต่จำความได้ ขณะที่ประชาชนและคนเฒ่าคนแก่ทั่วไป ก็ยืนยันว่า ได้เห็นเสาตะลุงมีหัวดุมคล้ายดอกบัวมาตั้งแต่เกิดเช่นกัน

หลังจากมีการนำเสนอเรื่องราวผ่านทางโซเชียล ทำให้เกิดกระแสคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการตัดหัวเสาตะลุงออกจากของเดิม เป็นการทำลายความรู้สึกของผู้ที่เคยพบเห็นมาตั้งแต่อดีต จึงเรียกร้องให้ทางศิลปากรผู้รับผิดชอบได้ทบทวนการซ่อมเสาตะลุง โดยชาวบ้านที่อยู่รอบเพนียดคล้องช้าง เตรียมที่จะรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้กรมศิลปากรทำเสาตะลุงเหมือนเดิม

ขณะที่นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยืนยันว่าการซ่อมแซมครั้งนี้ได้ยึดแบบจากหลักฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้าที่จะมีการซ่อมแซมเป็นหัวดุม จะเป็นเสาหัวตัดธรรมดา จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้

ขณะที่เว็บไซต์ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเอง ก็ยังปรากฎภาพของเพนียดคล้องช้างในภาพของเสาตะลุงที่มีหัวดุมในปัจจุบัน โดยประชาชนส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่าหากเสาตะลุงไม่มีหัวจริง ทำไมจึงได้ซ่อมแซมให้มีหัวดุมในเวลาต่อมา จนกระทั่งประชาชนจำภาพของเสาตะลุงที่มีหัวดุม อีกทั้งยังพบว่าภาพเก่าๆ ที่ค้นพบส่วนใหญ่ก็จะมีหัวดุมที่เสาตะลุงเป็นส่วนใหญ่ การตัดหัวดุมออกไป เป็นเสาหัวตัดก็จะเป็นภาพของเพนียดที่ไม่เหลือความทรงจำเก่าๆ จึงเรียกร้องให้ทบทวน ด้านนายปฎิพัฒน์ พุ่มพวงแพทย์ อดีตรองผู้อำนวยการศิลปากรที่ 3 ก็โพสต์ข้อความไม่สบายใจที่เสาตะลุงไม่มีหัว

เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังระบุว่า เพนียดคล้องช้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้เป็น โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่53 ตอนที่ 16 วันที่ 18 มีนาคม 2484 บริเวณของกลุ่มเพนียดคล้องช้าง จะมีกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญคือเพนียดคล้องช้าง ตำหนักเพนียด และเตาเผาบ้านเพนียด ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการคล้องช้างป่า นำมาใช้ประโยชน์ในราชการทั้งในเวลาปกติและในสงคราม แต่บางครั้งพระเจ้าแผ่นดินก็โปรดฯ ให้ทำพิธีคล้องช้างป่าให้แขกเมืองชมด้วย แต่เดิมเพนียดตั้งอยู๋ที่วัดซองด้านทิศเหนือของพระราชวังจันทรเกษม ครั้งถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ.2123 โปรดฯ ให้ขยายกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกไปถึงริมแม่น้ำ จึงโปรดฯให้ย้ายเพนียดไปตั้งที่ตำบลทะเลหญ้า หรือตำบลสวนพริกในปัจจุบัน

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 แล้ว เพนียดคงถูกทิ้งร้างไป จนกระทั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์จึงโปรดฯให้บูรณะเรื่อยมา เช่นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน

ลักษณะเพนียดคล้องช้างเป็นคอกล้อมด้วยซุงทั้งต้น เรียกว่าเสาตะลุง และมีปีกกาเป็นรั้วแยกออกไปทั้งสองข้างๆ ละหลายเส้น ซุงที่ปักเป็นแนวปีกกา ได้รับการบูรณะแล้วที่เพนียดจะมีประตูทางเข้า-ออกของช้างป่าและช้างต่อ เรียกว่า “ซอง” ด้านบนจะมีเสาใหญ่แขวนอยู่เรียกว่า “โตงเตง” ไว้สำหรับเปิด-ปิดซองเมืองต้อนช้างเข้าและออกจากเพนียด

คอกเพนียดแห่งนี้มีขนาดประมาณ 75×100 เมตร แต่เดิมรอบคอกเพนียดจะก่อเป็นกำแพงดินประกอบอิฐสูงเสมอยอดเสาระเนียด กว้างประมาณ 75×100 เมตร แต่เดิมรอบคอกเพนียดจะก่อเป็นกำแพงดินประกอบอิฐสูงเสมอยอดเสาระเนียด กว้างประมาณ 8 ฟุต สำหรับคนขึ้นไปดูเวลาคล้องช้าง สิ่งก่อสร้างได้แก่ พระที่นั่งคชประเวศมหาปราสาท เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตร ศาลปะกำ สถานที่สำหรับทำพิธี ก่อนจับช้างเข้าเพนียด มณฑปพระเทวกรรม ตั้งอยู่ตรงกลางเพนียด ประดิษฐานพระพิฆเนศซึ่งเป็นเทพแห่งช้าง เสาชุง ปักเว้นระยะเพื่อทำเป็นคอก ช่องกุด ประตูเล็กๆ สำหรับเจ้าหน้าที่เข้าออก เชิ่งเทินก่ออิฐ เป็นกำแพงล้อมรอบเพนียด เสาโตงเตง เป็นซุงที่ห้องจากด้านบน ปลายลอย มีเชือกดึงออกไปด้านข้าง เพื่อเปิดให้ช้างเข้า ทำหน้าที่เป็นประตู ( ขอบคุณภาพจาก The National Geographic Magazine )

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ