X

พ่อเมืองกรุงเก่าย้ำการ์ดอย่าตกรับมอบตึกผู้ป่วยแยกโควิด

พระนครศรีอยุธยา-ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานพิธีมอบตึกผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ Cohort ward ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) เพื่อเตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยหากเกิดการระบาด ระลอกที่ 2

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่อาคาร ตึกผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานพิธีรับมอบตึกผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ Cohort ward จาก นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งให้การสนับสนุนงบประมาณหลักในการปรับปรุงตึกผู้ป่วยในหลังเก่า เพื่อปรับปรุงเป็นตึกผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ (Cohort ward) โดยมี นายแพทย์ณรงค์ ถวิลวิสาร นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แทนรับมอบตึกผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยานพิธีมอบในครั้งนี้

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การที่เราทำหออภิบาลผู้ป่วยติดเชื้อ หรือ Cohort ward มาจากความคิดที่ว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ไม่ควรไปปะปนกับผู้ป่วยอื่น หรือใช้อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ร่วมกับผู้ป่วยอื่น เพราะนั่นคือความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด เมื่อหลายเดือนก่อนทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังไม่มีความพร้อม เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหม่ แต่เมื่อเราได้เรียนรู้ จึงได้ระดมความร่วมมือขึ้นเป็นแห่งแรก อย่างแรกคือเรื่องอาคารสถานที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช อำเภอนครหลวง แห่งนี้ ได้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ที่เหมาะสมที่สุด เรื่องการสร้างความเข้าใจในชุมชนผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องต่อมาคือการระดมทรัพยากร ซึ่งโชคดีที่เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะสงฆ์ กองทุนไฟฟ้า รวมทั้งท้องถิ่นอื่นๆ ได้เห็นถึงความสำคัญ พร้อมใจกันมาร่วมสนับสนุนปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลเก่าให้เป็น  Cohort ward ซึ่งมีความสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 20 กว่าเตียงด้วยกัน และมีการที่จะสร้างระบบความดันลบ ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ด้วยกันไม่แพร่เชื้อ เพราะเขามีภูมิต้านทานซึ่งกันและกัน ซึ่งในวันนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรามีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

จุดแรก คือที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช อ.นครหลวง เรามีระบบที่แข็งแรงกว่านี้ก็คือที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลเสนา ซึ่งก็จะมีระบบการดูแลที่เข้มงวด เบื้องต้นเราจะใช้โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช โดยมีทีมแพทย์ ทีมเภสัช บุคลากรทางการแพทย์ ของทุกอำเภอ จะเวียนกันมาปฏิบัติหน้าที่ เรามีความพร้อมในเรื่องของการดูแลผู้ป่วย หากพบการติดเชื้อในระลอก 2  สิ่งที่อยากขอความร่วมมือ คือ เรื่องของการป้องกันจากต้นทาง คือพี่น้องประชาชน เราต้องป้องกันสวมใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การรักษาระยะห่าง การคัดกรองไข้ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมาก อันนี้จะเป็นการป้องกันได้อย่างดี ส่วนระบบแพทย์ อาคารสถานที่ เครื่องมือ เป็นปลายทาง วันนี้ 143 วันแล้วที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย ถ้าพวกเรายังคงแข็งแรงอยู่ มีความมั่นใจว่าเราจะมีระยะเวลาอีกยาวนานจนกว่าประเทศเราจะมีวัคซีนเข้ามา แต่ตอนนี้มีสถานการณ์ใหม่คือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะลักลอบเข้ามา โดยที่ไม่ได้ผ่านช่องทางปกติ รัฐบาลมีมาตรการป้องกัน การเข้ามาโดยลักลอบมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ผู้ประกอบการอยากได้แรงงาน 2 แรงงานอยากได้รายได้ ลักลอบเข้ามา ตอนนี้พบแล้ว 1 ราย กำลังสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับช่องทาง เส้นทาง ซึ่งก็ต้องเกี่ยวข้องกับผู้นำพาด้วย จังหวัดได้มอบให้ทุกอำเภอตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบ ในจังหวัดจะมีชุดปฏิบัติการจังหวัดที่นำโดยท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าชุด เราจะตรวจตราทุกจุด หากพี่น้องประชาชนพบว่ามีแรงงานลักลอบเข้ามาและสงสัยว่าจะมีการแพร่ระบาดเชื้อได้ ขอให้แจ้งได้ที่นายอำเภอ โรงพัก หรือ โรงพยาบาล หรือศูนย์ดำรงธรรม ตรงนี้จะช่วยทำให้เราเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น หากเราช่วยกันอย่างนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาของเราก็จะปลอดภัย  ทั้งนี้ จังหวัดจะมีการจัดฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในเร็ววันนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจกับพี่น้องประชาชน

นายแพทย์ณรงค์ ถวิลวิสาร นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) กล่าวว่า จากถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และโรงพยาบาลทุกแห่งมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่สำหรับรับผู้ป่วยไว้ดูแลรักษาพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก และเสียสละ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ภายใต้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องสามารถให้บริการประชาชนได้ ต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการประชาชนต้องได้รับความปลอดภัย ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงตึกผู้ป่วยในหลังเก่า เพื่อปรับปรุงเป็นตึกผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ (Cohort ward) เป็นจำนวนเงิน ๘,263,240 บาท สนับสนุนเครื่องช่วยหายใจ ๑ เครื่อง เป็นจำนวนเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท  เครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ ๑ เครื่อง เป็นจำนวนเงิน ๑,695,000 บาท และได้รับสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๔ ในการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นจำนวนเงิน ๓,๔๙๙,614 บาท สำหรับรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) และโรคติดต่ออื่นๆ บัดนี้ การปรับปรุงตึกแยกโรคผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรลงกรณ (วาสนมหาเถร) ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมที่จะเปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ