X

นำเถาวัลย์แดงมาสร้างมูลค่าจนโกอินเตอร์

ราชบุรี   ในวันนี้ (1 มิ.ย. 66)  เถาวัลย์แดง ถือเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ยาวเลื้อยพันไปตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้ ขึ้นในที่โล่ง ตามทุ่งนา ชายเขา ที่รกร้างทั่วไป ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นวัชพืชที่ไร้ค่าไม่มีราคา แต่สำหรับที่ศูนย์เรียนรู้บ้านครูสลัด ตั้งอยู่เลขที่  12 หมู่ 3 ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี กลับมีแนวคิดนำเถาวัลย์แดงมาสร้างมูลค่าโดยการนำมาทำเป็นของใช้ ของตกแต่งบ้านเรือนได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งยังนำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อของเมืองราชบุรีมาประยุกต์เข้าด้วยกันกับเถาวัลย์แดงที่ถูกถักสานเป็นลวดลายต่าง ๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า  โอท็อปของชุมชนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างสวยงามแปลกตา  จากฝีมือชาวบ้านได้ช่วยกันรังสรรค์ชิ้นงาน มีรูปทรงเป็นรูปสัตว์ เก้ง กวาง แกะ สุนัข ปลาดาว   กระต่าย ตะกร้า เก้าอี้ แจกัน โคมไฟ ที่ใส่ขวดไวน์ และอีกมากมาย เป็นสินค้าของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชอบเลือกซื้อกลับไปฝากคนที่รู้จักและนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี

   สำหรับเทคนิคการนำเถาวัลย์มาแปรรูปนั้นจะต้องนำเถาวัลย์มาต้ม ปอกเปลือกออกก่อน  แล้วจึงนำไปแช่น้ำเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นตัว เวลาถักหรือสานเป็นรูปทรงจะง่ายสะดวกกว่าเถาวัลย์ที่มีลักษณะแข็งจะขึ้นรูปลำบาก  ผลิตภัณฑ์แต่ละตัวจะขึ้นรูปแตกต่างกัน บางตัวเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องใช้ความแข็งแรงคงทน จึงต้องมีการใช้โครงเหล็กเสริม  บางตัวเป็นรูปตะกร้าจะขึ้นโครงธรรมดาเป็นเถาวัลย์ บางตัวเป็นรูปสัตว์จะใช้โครงลวดอะลูมิเนียมเข้ามาช่วยเสริม แต่ละชิ้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายแล้วแต่ขนาดรูปทรง  เช่น รูปเก้ง กวาง จะเริ่มตั้งแต่โครงเหล็ก ผสมโครงลวดอะลูมิเนียมซึ่งเป็นโอท็อปของราชบุรีมาร่วมผสมผสานกันให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ ส่วนราคาก็จะมีตั้งแต่ 40 บาท ไปถึงหลักแสนบาทแล้วแต่ความยากง่ายและรูปแบบที่ทำออกมา

ซึ่ง นายอภิชิต ประสพรัตน์  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมคณะได้เดินทางมาศึกษาดูงานการจักสานจากผลิตภัณฑ์เถาวัลย์แดง ตามคำเชิญของนายสินาค  รุ่งจรูญ นายกเทศบาลตำบลหลักเมือง   ก็บอกว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี อยากเชิญชวนผู้สนใจมาเยี่ยมชมของดีในเทศบาลตำบลหลักเมือง มีการนำเถาวัลย์แดงมาผลิตเป็นวิสาหกิจชุมชน ฝีมือชาวบ้าน ผู้สูงอายุช่วยกันทำสินค้าเหล่านี้ส่งขายไปทั่วโลก  เป็นการส่งเสริมให้กับชาวบ้านได้มีอาชีพ ในขณะเดียวกันคิดว่าสินค้าที่มาจากวัชพืชมาผลิตสร้างให้เกิดประโยชน์มีมูลค่าเพิ่มได้  นอกจากนี้ยังเหมาะกับการนำไปตกแต่งสถานที่ตามรีสอร์ท สถานที่พักต่างอากาศ  จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสริมและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้  เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จัก  คุณภาพแข็งแรง ส่วนการดีไซน์มีหลายแบบ ทั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้   ซึ่งทราบว่าสินค้าจากเถาวัลย์แดงนั้นได้มีการส่งขายไปทั่วโลกแล้ว

ด้านนางสาว ศิริวรรณ   สุขขี   อายุ 44 ปี เจ้าของศูนย์เรียนรู้บ้านครูสลัด กล่าวว่า เถาวัลย์แดงจะเริ่มต้นด้วยครูสลัด สุขขี ผู้เป็นพ่อ ได้เริ่มทำตรงนี้มากว่า 40 ปีแล้ว  จากที่พ่อเคยรับราชการกรมราชทัณฑ์เป็นครูฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังและได้เห็นตัวเถาวัลย์เหมือนสมัยก่อนจะทำเป็นที่ดักปลา เห็นเลื้อยไต่ตามต้นไม้จึงมีแนวคิดมาลองถัก สานเป็นรูปทรงเป็นตะกร้า และนำไปเสนอบริษัทส่งออก ทำให้ได้ออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก ทำรายได้ให้กรมราชทัณฑ์เดือนหนึ่งเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อเดือน หลังจากนั้นได้ออกจากราชการมาที่ ต.พงสวายซึ่งมีอาชีพหลักจะทำไม้ไผ่ จึงนำตัวเถาวัลย์มาให้คนในชุมชนได้ลองทำดู จึงได้เริ่มก่อตั้งงานนี้ขึ้น โดยกลุ่มคนที่ทำงานจะเป็นชาวบ้านระแวกใกล้เคียง และมีการกระจายงานไปทั่วพื้นที่ราชบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส มีผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ของตกแต่งบ้าน แต่งสวน เฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นบ้านทั้งหลังจากเถาวัลย์ และยังมีจำพวกกระเป๋าแนวแฟชั่นต่างๆ  ปัจจุบันส่งออกขายประเทศญี่ปุ่น เกาหลี  ยุโรป อเมริกา และที่มัลดีฟส์ จะเป็นส่วนของโรงแรมและรีสอร์ท  ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้บ้านครูสลัด ยังมีคาเฟ่เล็กๆเปิดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเที่ยวชมได้ มีมุมถ่ายรูปสวย มีมุมกิจกรรเวิร์กช็อป เสาร์และอาทิตย์ ให้เข้ามาเรียนได้ด้วย

                     สำหรับผู้ที่สนใจสามารถมาเที่ยวชมได้ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านครูสลัด  หรือ ติดตามได้ทางเพจ ดินเผา เถาวัลย์  หรือ ดินเผา เถาวัลย์คาเฟ่  ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 081-7638317

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี