X

เกษตรกรอำเภอบ้านคารวมกลุ่มแปรรูปน้ำตาลอ้อยสดเพิ่มมูลค่าสู้โควิด

ราชบุรี     อ้อยเป็นพืชที่มีหลายสายพันธุ์  นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงาน  นำไปแปรรูปผลิตเป็นน้ำตาลทราย บางสายพันธุ์นิยมปลูกเพื่อคั้นน้ำสดบรรจุขวด สุดแล้วแต่เกษตรกรจะเลือกปลูกสายพันธุ์ไหนที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  ขณะที่เกษตรกรกลุ่มหนึ่งใน  ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี  ได้รวมกลุ่มปลูกสับปะรดแปลงใหญ่อยู่แล้ว  ได้หันมาปลูกอ้อยสายพันธุ์ที่ส่งขายโรงงานด้วย แต่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด -19 ผลผลิตอ้อยที่ขายส่งโรงานมีราคาตกต่ำ เหลือประมาณตันละ 650 – 700 บาท ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในครอบครัว จึงทำให้เกษตรกรมีแนวคิดหันมาปลูกอ้อยสายพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นสายพันธุ์แบบคั้นน้ำ มีรสชาติหวาน หอม ได้ผลผลิตสูงและราคาดีกว่าอ้อยโรงงานในช่วงนี้

             นายจันทร์   เรืองเรรา  อายุ 63 ปี และนางละเวก   เรืองเรรา สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 74/1 หมู่ 5 ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา ได้แบ่งพื้นที่ดินของตัวเองประมาณ 2 ไร่ ปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ได้ไม่นาน   และยังนำอ้อยมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย  โดยก่อสร้างเตาลักษณะแบบโบราณใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการเคี่ยวกวนน้ำตาลที่ต้องใช้ความอดทน  จึงจะได้ผลผลิตแต่ละกะทะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ทั้งยังมีเคล็ดลับการใส่สมุนไพรบางชนิดลงไป เพื่อยืดอายุของน้ำตาลไม่ให้บูดเน่า ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับการทำน้ำตาลของที่นี่

             นายจันทร์ เรืองเรรา ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก.) อ.บ้านคา กล่าวว่า ปัจจุบันทำอาชีพปลูกอ้อย และไร่สับปะรด  แต่ต้องประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด 19 อีกทั้งเจอเรื่องปัญหาผลผลิตมีราคาตกต่ำ จึงได้มองถึงกระบวนการแปรรูปในฐานะที่เป็นศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จากอ้อยเมื่อปีที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาโรงงานไม่ค่อยดี  จึงได้รวมกลุ่มเกษตรกรที่เคยทำสับปะรดแปรรูป และเคยกวนสับปะรดจากแปลงใหญ่มาแล้ว จึงสานต่อเรื่องการแปรรูปน้ำตาลอ้อยจากการนำผลผลิตในไร่ของเกษตรกรในกลุ่มที่ทำอาชีพเดียวกันมาทำเรื่องอ้อยต่อไป  เพื่อแปรรูปเป็นน้ำตาลก้อน น้ำตาลสดขาย ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกอ้อยประสบปัญหาคล้ายกัน จึงให้เพื่อนเกษตรกรในกลุ่มนำอ้อยมารวมกัน และคั้นเป็นน้ำเคี่ยวด้วยไฟฟืนแบบโบราณเป็นก้อนและบรรจุขวดจำหน่ายในศูนย์เรียนรู้ตลาดเกษตรกร จ.ราชบุรี  ตลาด  อ.จอมบึง และตลาด  อ.โพธาราม  จ.ราชบุรี

     มีลูกค้าสั่งซื้อที่ศูนย์ฯ แต่ละวันจะเคี่ยวน้ำตาลได้ประมาณ 14 – 15 กิโลกรัม  ช่วงเช้าจะไปขาย ช่วงบ่ายจึงกลับมาทำน้ำตาล  หากทำทั้งวันสามารถเคี่ยวได้ประมาณ  20 – 30 กิโลกรัม  นำไปทำขนม และทำกับข้าว  ที่โดดเด่นคือนำไปชงใส่ในกาแฟจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ หวานแบบธรรมชาติจากอ้อย  ส่วนผสมการทำน้ำตาลจะไม่ใช้สารกันบูด ไม่ใช้สารฟอกขาว เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ศูนย์ฯแห่งนี้ ซึ่งจะมีกระบวนต่าง ๆ ที่สะอาด ปลอดภัย

        เรื่องการแบ่งปันผลกำไรนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีอ้อยที่ปลูกกันเองในไร่อยู่แล้ว จึงให้ทุกคนมาเคี่ยวน้ำตาลที่ศูนย์ฯ ซึ่งจะเป็นสถานที่กลางเรื่องการให้วัสดุอุปกรณ์ให้ปอกและหีบน้ำอ้อยนำไปเคี่ยว และนำผลผลิตกลับไปที่บ้าน เป็นการเริ่มต้นการทำในการทดลองเพื่อให้รู้ว่าเป็นอีกมุมมองแก้ไขปัญหาเรื่องราคาอ้อยตกต่ำ และเรื่องการผลิตเอาน้ำตาลอ้อยไว้ใช้เองในครัวเรือน เหลือจึงแบ่งปันและขายออกไป

              สำหรับขั้นตอนการทำนั้น  หลังจากไปตัดอ้อยมา นำลำต้นไปล้างน้ำให้สะอาด และปอกเปลือกนอกออก นำเข้าเครื่องหีบ เมื่อได้น้ำอ้อยแล้ว จะนำไปแช่กับเนื้อไม้พะยอม ก่อนเทใส่กระทะ ผ่านผ้าขาวบางกรองให้สะอาด  เพื่อไม่ให้มีเศษไม้ติดไป   จากนั้นเคี่ยวบนเตาไฟด้วยความร้อน   การแช่ในเนื้อไม้พะยอมจะทำให้น้ำอ้อยมีลักษณะเหนียวเป็นยางมะตูมไม่แห้ง ซึ่งในเนื้อไม้พะยอมนั้นจะมีรสชาติฝาดมีข้อดีคือ เนื้อไม้ป้องกันไม่ให้น้ำอ้อยบูดและแห้ง   น้ำอ้อยที่หีบแล้วน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม จะต้องใช้เนื้อไม้พะยอมประมาณ 2 กำมือผสมเข้ากัน พอได้เวลาก็กรองเอาเนื้อไม้ออกนำไปเคี่ยวบนเตาไฟประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง พอเคี่ยวได้ที่   นำลงจากเตามาปั่นด้วยไม้ให้เหนียวก่อนไปเทลงเบ้าแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้รออุ่นพอเหมาะจึงขยับแม่พิมพ์ออก จะได้ก้อนน้ำตาลอ้อยที่มีลวดลายตามแม่พิมพ์แบบต่าง ๆ ที่สวยงาม มีทั้งแบบเป็นก้อนบรรจุถุง  เป็นถ้วยพลาสติก  ชั่งน้ำหนักครึ่งกิโลกรัมขายในราคา  35 บาท

            สำหรับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก.) อ.บ้านคาแห่งนี้  ถือเป็นอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นแบบอย่างเรื่องแก้ไขปัญหาพืชผลทางเกษตรตกต่ำ ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ซึ่งได้มีผลกระทบในภาคการเกษตรเกือบทุกสาขาอาชีพได้เป็นอย่างดี แม้จะอยู่ในขั้นเริ่มดำเนินการ แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้การรวมกลุ่มปลูกอ้อยคั้นน้ำซึ่งต่อยอดมาจากการปลูกสับปะรดแปลงใหญ่ กลายเป็นอาชีพเสริมรายได้อีกทางที่ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

สำหรับประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่นายจันทร์ เรืองเรรา ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก.) อ.บ้านคา เบอร์   089- 9101254

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี