X

ชาวไท  ยวน บ้านหนองไร่ฟื้นประเพณีเผาข้าวหลามถวายพระในวันเพ็ญเดือน 3

ราชบุรี    ในวันนี้( 28 ม.ค. 64 ) ชาวไท – ยวน   ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 1 บ้านหนองไร่ ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ได้ช่วยกันนำกระบอกไม้ไผ่นับพันกระบอก นำข้าวเหนียว กะทิ ถั่วดำ มากรอกใส่กระบอกไม่ไผ่ก่อนจะนำไปเผาเป็นข้าวหลาม บริเวณสนามกลางแจ้งข้างศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน เพื่อพลิกฟื้นประเพณีเผาข้าวหลามที่ถูกลืมเลือนไปนาน ในอดีต  ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ชาวบ้านได้แบ่งหน้าที่กัน   ตั้งแต่ไปหาไม้ไผ่นำมาเลื่อยเป็นท่อน  เตรียมข้าวเหนียวไปแช่น้ำนานประมาณ 12 – 14 ชั่วโมง  พร้อมวัตถุดิบส่วนผสมต่าง ๆ ในการทำด้วยความตั้งใจ และความสามัคคีของชาวบ้านในชุมชน และมีแรงศรัทธาที่จะนำข้าวหลาม ซึ่งเป็นข้าวใหม่ของปีนี้ ไปถวายพระในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3  ที่หลายคนมีความเชื่อว่า  เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่  เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว จึงเห็นว่ามีผู้สูงวัย    หนุ่ม สาว เด็ก ๆ ออกมาช่วยกันทำ

               สำหรับวัตถุดิบข้าวเหนียว 1 ถังจะใช้น้ำตาล 8 กิโลกรัม  มะพร้าวจะใช้ประมาณ 15 ลูก   โดยใช้ข้าวเหนียวประมาณ 12 ถัง   ส่วนผสมอื่นก็จะต้องใส่ในปริมาณที่มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งในการเผาข้าวหลามครั้งนี้ จะได้ข้าวหลามประมาณ 1,200 กระบอก  ทุกคนแบ่งหน้าที่กัน ทั้งปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว เลื่อยไม้ นำข้าวเหนียวและถั่วดำกรอกใส่กระบอก  นำไปวางเรียงแถวกลางลานดินที่ขุดเป็นร่องยาวเพื่อวางกระบอกไม้ไผ่แล้วค่อย ๆ กลบดินที่บริเวณโคนกระบอกเว้นระยะห่างกันเล็กน้อยเพื่อให้ไฟความร้อนเข้าถึงกันทุกกระบอกเรียงรายเป็นแถวยาวดูสวยงาม   จากนั้นนำภาชนะหยอดน้ำกะทิใส่กระบอกไม้ไผ่อีกครั้งก่อนจุดไฟเผาด้วยไม้ฟืน

     ด้านนายสมศักดิ์  ตำหนิงาม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1  กล่าวว่า ประเพณีเผาข้าวหลามมีมาแต่โบราณ  ตั้งแต่ทำนาเสร็จก็จะนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง พอเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ชาวนาจะตักข้าวไปสี  ทั้งข้าวเหนียว และข้าวเจ้า ได้ข้าวมาก่อนที่จะกินต้องหุงไปถวายพระก่อน  สมัยนั้นจะต้องมีปลาช่อนแดดเดียว หรือ ปลาช่อนใส่เกลือ ทอดไปทำบุญถวายพระที่วัด  เพื่อทำเป็นข้าวใหม่ปลามันให้พระได้ฉันก่อน แล้วเราถึงจะได้กินข้าวนั้น  พอถึงเดือน 3 กลางเดือนขึ้น 14 ค่ำ ก็จะมาเผาข้าวหลาม  เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ  ผู้ชายก็จะไปตัดไม้ไผ่ป่า ผู้หญิงอยู่บ้านก็จะจัดเตรียมมะพร้าว น้ำตาล  ถั่วดำ   หรือ ภาษาไท- ยวน เรียกถั่วนั่ง  เอามาใส่ข้าวหลาม นำมาเผา  เสร็จก็จะนำไปทำบุญถวายพระ  ที่เหลือจึงจะมาแบ่งให้กับชาวบ้านในชุมชน พอเดือน 3 ขึ้น 15 ค่ำเสร็จสิ้น ต่อมาเดือน  3 แรม 6 ค่ำ ก็จะเริ่มแช่ข้าวทำขนมจีน ถึงแรม 8 ค่ำ ก็จะนำขนมจีนไปถวายพระที่วัด โดยจะมีทั้งน้ำพริก น้ำยาไปทำบุญอีกครั้ง  แต่มาสมัยนี้ขนมจีนมีกินทั้งปีก็เลยลดการกระทำลงไป   ซึ่งวิธีการเผาข้าวหลามเป็นสูตรดั้งเดิมแต่โบราณมีข้อดีไม่ต้องพลิกกระบอกกลับไปมา ให้จุดไฟสุมไว้ทั้ง 2 ข้าง  กระบอกไม้ไผ่  ไม่ให้ชิดกันเพื่อให้ไฟได้ความร้อนรอบ ๆ กระบอก จะไม่สามารถเร่งไฟได้   ถ้าเร่งจะมีผลเสียทำให้กระบอกไม้ไหม้ ด้านในก็จะไม่สุก  ต้องให้ความร้อนอ่อนๆ พอดี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงข้าวหลามก็สุกรับประทานได้    ถือเป็นกิจกรรมที่ดีช่วยสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน

         การเผาข้าวหลาม แม้จะใช้เวลาที่ยาวนานหลายชั่วโมง แต่ชาวบ้านต่างมีจิตใจที่มุ่งมั่นในการสร้างบุญร่วมกุศลใหญ่  จัดประเพณีเผาข้าวหลามถวายพระ 1 ปีมีเพียงครั้งเดียว ที่ทำให้คนในหมู่บ้าน เกิดจากความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนงานประเพณีสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี