X

ชาวนายื่นหนังสือวอนชลประทานปล่อยน้ำทำนาปรังช่วงโควิด

ราชบุรี      ในวันนี้( 15 ม.ค. 64 )  ตัวแทนชาวนาในตำบล ต.เขาแร้ง ต.ดอนแร่ ต.คูบัว ต.ห้วยไผ่ ต.หินกอง ต.ดอนตะโก ต.เกาะพลับ  ต.เจดีย์หัก  ต.หลุมดิน  และ ต.บ้านไร่    อำเภอเมืองราชบุรี   เดินทางมาที่ศาลาเอนกประสงค์ อบต.เกาะพลับพลา ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อมารับฟังปัญหา กรณีที่มีการยื่นหนังสือถึงนางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ขอความอนุเคราะห์ประสานงานเรื่องการส่งน้ำให้แก่เกษตรกรสำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2563/2564   โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะพลับพลา จัดส่งเจ้าหน้าที่มาตั้งจุดตรวจคัดกรองประชาชนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่มาร่วมประชุมกว่า 100 คน  พร้อมให้ทุกคนเว้นการนั่งระยะห่างกันเพื่อรับฟังการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ

           โดย นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี  ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงและรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ  โดยมีนายทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอเมือง  นางดวงสมร พฤฑฒิกุล เกษตรจังหวัด นายณฤทธิ์ บุญชัย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด  นายอำนาจ ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการชลประทานที่ 13 นายพันธุ์เดช โกมารกุล ณ นคร  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝั่งซ้าย นายประสาน สุขอินทร์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา  และผู้แทนธนาคาร ธกส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   เนื่องด้วยชาวนาหลายพื้นที่ประสบปัญหากรณีชลประทานไม่ปล่อยน้ำให้ทำนาปรัง  หลังจากที่มติ ครม.ครั้งที่ 45/2563 วันที่ 3 พ.ย. 63 ขอความร่วมมือชาวนาในเขตส่งน้ำชลประทานลุ่มน้ำแม่กลอง งดทำนาปรัง ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี  2563/64 เนื่องจากปริมาณน้ำที่เก็บกักของเขื่อนที่ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย  ชาวบ้านจึงไปขอความช่วยเหลือให้นางสาวกุลวลี นพอมรบดี  ส.ส.ราชบุรี ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือเรื่องน้ำทำการเกษตร  เพราะขณะนี้ชาวนากำลังได้รับความเดือดร้อนไม่มีน้ำทำนาปรัง  หากจะไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนก็ไม่มีความรู้ จะส่งผลให้ครอบครัวของเกษตรกรไม่สามารถทำนาปรังได้ ต้องปล่อยที่นากว่า 6,000 ไร่ ให้ว่างเปล่าไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้  เพราะสภาพดินจะมีลักษณะเป็นดินเหนียว ไม่มีความเหมาะสมในการเจริญเติบโตของพืชทนแล้งทำให้เกษตรกรขาดรายได้

ด้าน นายอำนาจ ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการชลประทานที่ 13 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำแม่กลองปีนี้อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เช่น เดียวกับปี 2558 -2559 ทำให้การวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในปีนี้ต้องวางแผนให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันของเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำทั้งด้านอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การสำรองน้ำไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ของปี 2564 และการทำเกษตรกรรม สามารถบริหารจัดการได้อย่างลุล่วง เพียงพอต่อน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์  ณ ปัจจุบันมีอยู่ 4,300 ล้านลูกบาศก์เมตร  ถือว่าเป็นปีที่มีน้ำน้อย  ตามปกติน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง ปริมาณน้ำที่เพียงพอจะจัดสรรตลอดทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง  ณ วันที่ 1 ม.ค.63  มีมากกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ ณ วันที่ 1 ม.ค.64  มีน้ำเพียง 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร  จะแตกต่างจากปี 2563  ทำให้ยังทำนาปรังไม่ได้ เนื่องจากมติ ครม.ได้วางแผนเพาะปลูกแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำแต่ละพื้นที่  โดยลุ่มน้ำแม่กลองถือเป็นหนึ่งในลุ่มน้ำที่อยู่ในมติ ครม. ที่จะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำไปให้ผู้เพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองฤดูแล้งปีนี้วางแผนการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ ประมาณ 1 ล้าน 2 แสน 9 หมื่นไร่  เป็นพืชไร่ พืชผัก  พืชที่ใช้น้ำน้อย  เพียงแต่พื้นที่ปลูกข้าวมีอยู่ประมาณ 8 แสน 8 หมื่นไร่จะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ทางสำนักงานชลประทานที่ 13 ได้วางแผนการจัดสรรน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมโดยการส่งน้ำเป็นแบบรอบเวร   เนื่องจากมีพื้นที่ที่ครอบคลุมทั้งหมดหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี  นครปฐม  สมุทรสงคราม และบางส่วนของสุพรรณบุรี  เพชรบุรี สมุทรสาคร  กรณีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงกุ้งและเพาะเลี้ยงกล้วยไม้นั้น เป็นส่วนของการส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ การควบคุมสภาพความเค็ม ทั้งส่วนแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ต้องบริหารจัดสรรน้ำให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อื่นๆ

ส่วน นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ    ก็บอกว่า ปัญหานี้ได้รับเรื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ย.- ธ.ค. ปีที่แล้ว  ช่วงก่อนปีใหม่จึงได้มีโอกาสนำปัญหานี้ไปหารือในสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา  โดยก่อนหน้านี้มีการหารือกับสำนักชลประทานที่ 13 ที่ดูแลลุ่มน้ำแม่กลองมาก่อนแล้ว ให้ทำแผนการบริหารจัดการน้ำ  เปิด ปิดน้ำ ทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวนา กลุ่มผู้ใช้น้ำว่ามีแผนงานอย่างไรบ้าน เช่น ชลประทานฝั่งขวา ชลประทานฝั่งซ้าย  โครงการส่งน้ำท่ามะกา ต้องรีบไปทำความเข้าใจพร้อมนำแผนดังกล่าวไปทำความเข้าใจกับชาวนาในพื้นที่ วันนี้ยังประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังปัญหาชาวบ้าน เพื่อมาให้ความรู้กรณีหากปลูกข้าวไม่ได้จะทำอะไรได้บ้าง ได้พยายามเสนอเรื่องต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวนากับหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือพื้นที่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี