X

พบโรงงานเถื่อนแอบนำขยะอิเลคทรอนิคกว่าพันตันมารีไซเคิล

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 มิ.ย. 61  นายรณภพ   เวียงสิมมา   นายอำเภอเมืองราชบุรี  พร้อมกับ พ.ต.อ.อภิชาต   พุทธบุญ  ผกก.สภ.เมืองราชบุรี  และนายจำนง   จันทรวงศ์  ปลัดอำเภอเมืองราชบุรี  ได้เข้าตรวจสอบที่บริเวณบริษัท มิราเคิล เลเธอร์ จำกัด  ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 159  หมู่ 9  ต.ห้วยไผ่  อ.เมือง  จ.ราชบุรี  หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานว่า  ไม่ทราบว่าเป็นโรงงานผลิตอะไร ถึงได้ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว   ประกอบกับมีแรงงานต่างด้าวซึ่งไม่ทราบว่าถูกกฎหมายหรือไม่จำนวนมาก  ซึ่งผลการตรวจสอบพบแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกำลังทำงานภายในโรงงาน  จึงได้เข้าควบคุมตัวไว้ แต่มีบางส่วนหลบหนีไปได้  และสามารถควบคุมตัวมาสอบสวนจำนวน  43 คน แบ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมาร์ จำนวน 32 คน  แรงงานชาวจีนอีก 11 คน ซึ่งแรงงานชาวจีนนั้นอ้างว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดูกระบวนการทำงานของบริษัท เพื่อจะนำไปปรับใช้กับระบบอุตสาหกรรมในประเทศของตนเอง  แต่ทางเจ้าหน้าที่นั้นไม่เชื่อ เนื่องจากพบว่ากำลังทำงานร่วมกับแรงงานชาวเมียนมาร์  ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีเอกสารใดๆมาแสดงว่าเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย

 

นอกจากนี้ยังเข้าตรวจสอบภายในโรงงานก็พบว่าโรงงานแห่งนี้มีการนำขยะพลาสติกที่มีส่วนประกอบของอุปกรณ์ อิเลคทรอนิคซึ่งมีทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  พลาสติก  และแผงไฟ   ที่มีการคัดแยกแล้วและเตรียมคัดแยก ที่กองไว้และที่บรรจุในถุงบิ๊กแบ๊ครวมแล้วมากกว่าหนึ่งพันตัน  โดยบางส่วนถูกนำมาบดอัดและทำเป็นเม็ดพลาสติกบางแล้ว  ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เชิญนายอารยะ  เนตรวงษ์   หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม  สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี ให้มาร่วมตรวจสอบ

โดยนายอารยะ  ก็บอกว่าเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.61 ที่ผ่านมาได้เข้ามาทำการตรวจสอบที่โรงงานแห่งนี้แล้ว  ซึ่งขอจดทะเบียน เมื่อ 22 ส.ค.59 เจ้าของชื่อนายวิโรจวัฒน์   ชื้อเจริญกุล    เดิมเคยมีการขออนุญาตประกอบกิจการฟอกหนัง  ทำหนังเทียม  และมีการคัดแยกขยะ  แต่ช่วงตรวจสอบก็พบว่ามีการนำขยะอิเลคทรอนิค เช่นพลาสติก  มาทำการรีไซเคิล  ซึ่งมีความผิดตามพรบ.โรงงาน ซึ่งประกอบกิจการผิดประเภท   และจะต้องทำการตรวจสอบเรื่องของการนำเข้ามาว่าถูกต้องหรือไม่  และมีจำนวนเท่าไหร่   นอกจากนี้ได้มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการไปแล้ว  แต่มาวันนี้พบว่ายังมีการทำงานอยู่ ก็จะต้องดำเนินคดีต่อไปอีกเพราะฝ่าฝืนคำสั่ง  ส่วนขยะพลาสติกที่พบนั้นกำลังให้ทางเจ้าของโรงงานนำเอกสารมาแสดงด้วย  ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่พบใบอนุญาตในการนำขยะอิเลคทรอนิคเข้ามา  และประกอบกิจการในส่วนของการบดอัดเม็ดพลาสติกโดยไม่ได้รับอนุญาติ  จึงจะต้องแจ้งดำเนินคดีเพิ่มขึ้นไปอีก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี