X

อำนาจเจริญประกาศนโยบายสาธารณะ วาระสู่เมืองธรรมเกษตร วิถีอำนาจเจริญ

อำนาจเจริญ – จังหวัดอำนาจเจริญประกาศนโยบายสาธารณะเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพร ส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัด มีผลผลิต พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรอินทรีย์ เพื่อการบริโภคดูแลสุขภาพอย่างพอเพียง ปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

16 กุมภาพันธ์ 2561 จังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ เกษตรจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด พาณิชย์จังหวัด แรงงานจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ สมัชชาสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสุนการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ร่วมจัดพิธี ประกาศนโยบายสาธารณะ “วาระเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพร สู่เมืองธรรมเกษตร วิถีอำนาจเจริญ” ณ หอประชุมพญานาครินทร์ ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ โดยได้รับเกียรติจากนายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี และนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานในการลงนามความร่วมมือนโยบายสาธารณะวาระเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพร สู่เมืองธรรมเกษตรวิถีอำนาจเจริญ ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการ ขบวนองค์กรชุมชน และหน่วยงานภาคี

ไทยจะเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารอินทรีย์ ไร้สารพิษ

นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้ความร่วมไม้ร่วมมือขับเคลื่อนวาระเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2548 ใช้เวลามายาวนาน กระแสเกษตรอินทรีย์มีแรงกระเพื่อมในปี 2560-2561 ที่อำนาจเจริญมีการขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง 5 ล้านไร่ ภายในปี 2564 ต้องมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ เราจะไปถึงตรงนั้นได้หรือไม่ เมื่อมาเห็นอำนาจเจริญ คิดว่าทำได้ ถ้าขบวนการขับเคลื่อนโดยชุมชนฐานล่าง รัฐเป็นฝ่ายหนุนเสริม

ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายไทยนิยม จะปูพรมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการ จากเดิมที่สั่งการจากข้างบน ให้พี่น้องสั่งจากข้างล่าง เราอยู่ข้างบนจะรับคำสั่งและปฏิบัติตามพี่น้อง จากที่ลงพื้นที่ในวันนี้พื้นที่ยังมีความจำเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน พี่น้องมีความตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์รอบพื้นที่อ่าง งบกลางยังเหลืองบอยู่ประมาณ 1 แสนล้าน ท่องเที่ยวกับเกษตรจะจับมือกันเสนองบกลาง เกษตรกับพาณิชย์ก็จะจับมือกันเสนอโครงการ จับมือทำงานข้ามกระทรวง ไม่เคยมียุคสมัยไหนที่ รมช.เป็นคนดูแล ยุคนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ จะเพิ่มเติมกับบ่อไม่เพียงแค่ 1,260 ลบ.ม. แต่จะมีขนาด 5,000 ลบ.ม. ถึง 10,000 ลบ.ม. การขุดสระไม่จำเป็นต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม

นโยบายเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ จากเดิมกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก เปลี่ยนมาเป็นกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อให้ทำงานเชิงรุก ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ หลังจากนี้เป็นต้นไปหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำงานหนักขึ้น เพราะหัวใจอยู่กับพี่น้องเกษตรกร สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้สั่งงานในห้องแอร์ เราจะเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารอินทรีย์ให้ได้ เราเชื่อว่าพี่น้องหน่วยงานรัฐจะร่วมไม้ร่วมมือกับเกษตรกร

แปลงเกษตรที่อำนาจเจริญ วันนี้เขาเดินก้าวหน้าไกลไปกว่าที่จังหวัดจันทบุรี มีมาตรฐานการรับรองทุกๆ มาตรฐาน คนที่จะเสียโอกาสตอนนี้ คือคนที่ไม่ยอมเปลี่ยน คนที่อยู่ในวิถีเคมี คนรุ่นใหม่เริ่มกลับเข้ามาทำอินทรีย์ ไม่มีสินค้าใดมีมูลค่าเท่าเกษตรเพราะการแปรรูปสามารถเพิ่มมูลค่าได้มหาศาล เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า

จังหวัดอำนาจเจริญจะเป็นต้นแบบของการเกษตรไขปัญหาความยากจนทั้งระบบ การงานสำคัญที่จุดเริ่มต้น วันนี้เราจะกลัดกระดุมเม็ดแรก วันนี้เรากล้าประกาศ ผลสะท้อนจะกลับมาถามหาผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เราจะผลิตทันหรือไม่ เมื่อพ่อค้ากลับมาถามหาถ้าผลผลิตไม่มีเราจะอาย

เราจะช่วยกันพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ ไทยจะเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารอินทรีย์ ไร้สารพิษต่อไป นายธีระ กล่าวในตอนท้าย

นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า “ในเรื่องของการเกษตร ทำอย่างไรให้พี่น้องลดการรับประทานสารพิษ หันมาทางอินทรีย์ แต่เกษตรกรก็ยังเคยชินกับการใช้สารเคมี แต่ทางจังหวัดก็จะผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ อีกด้านหนึ่งอีกเมืองสมุนไพร ที่อำนาจเจริญจะมีทางโรงพยาบาลพนาที่ดำเนินการในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สมุนไพรที่เป็นผักสวนครัวจะฟื้นขึ้นมา สมุนไพรที่เป็นยาจะส่งเสริมให้มากขึ้น”

ด้าน นายชาติวัฒน์ ร่วมสุข ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวถึงที่มาของคำว่า “เมืองธรรมเกษตร” นั้นเกิดจากการระดมความคิดจากคนค่อนจังหวัดจนสกัดได้คำออกมา ที่มาเริ่มต้นจากปี 2536 ที่จังหวัดอำนาจเจริญแยกตัวออกจากจังหวัดอุบลราชธานี มีมรดกที่ติดตัวมา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย เป็นเรื่องที่เกาะกินหัวใจของคนอำนาจเจริญ ที่ต้องการหลุดพ้นจากคนทุกข์ยาก ความยากจน

ปี 2553 คนอำนาจเจริญจะไม่รอคอยความหวังจากคนอื่น มีการประกาศขอคืนพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญจัดการตนเอง ให้คนลุกขึ้นมาพึ่งตนเอง เพราะไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีรัฐบาลไหนที่ทำให้ประชาชนพ้นทุกข์ยากได้ ปัจจุบันคนเรามีแนวโน้มเป็นหนี้มากขึ้นๆ ไม่มีใครจะมาแก้ให้เราได้ มีทางเดียวคือเราต้องเริ่มคิดพึ่งตนเองให้ได้ จึงรวมพี่รวมน้องขึ้นมาประกาศ

ปี 2555 เราเริ่มต้นทำสิ่งที่ดีเป็นข้อตกลงร่วมของคนอำนาเจริญ 113 ข้อ คนอำนาจเจริญมาร่วมกันประกาศธรรมนูญคนอำนาจเจริญ ที่หน้าศาลากลางเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555

นายชาติวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปี 2557 เริ่มคิดสร้างบ้านแปงเมืองไว้ให้ลูกหลาน เพราะการพัฒนาพาพี่น้องทำให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ขบวนองค์กรชุมชนใช้เวลาประมาณ 1 ปี เปิดเวทีสภาองค์กรชุมชนทุกตำบล  แลกเปลี่ยน 20 ปี ข้างหน้าที่คนอำนาจเจริญอยากเห็น คือคำว่า “เมืองธรรมเกษตร” ต่อจากนั้นได้ทำแผนของประชาชนที่จะมุ่งไปสู่เมืองธรรมเกษตร และได้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จนได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งมีการบรรจุ เมืองธรรมเกษตร เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของจังหวัด

เป็นจังหวัดเดียวที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันประกาศแผนการพัฒนาจังหวัด เราสัญญากันว่าเราจะร่วมกันเดินเพื่อฝากไว้ให้กับลูกหลาน ซึ่งเมืองธรรมเกษตร เป็นเมืองที่มีคุณลักษณะ 7 ด้าน 1) เมืองที่มีธรรมชาติ น้ำใส อากาศบริสุทธิ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ 2) เป็นเมืองที่ไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ 3) เป็นเมืองที่พึ่งพาอาศัยแบ่งปันกัน 4) เป็นเมืองที่มีความเสมอภาคเสมอธรรม อยู่ในสังคมที่มีธรรมะ 6) เป็นเมืองที่มีความพอเพียง และ 7) เป็นเมืองที่คนมีจิตใจสาธารณะ เป็นคนเสียสละ เหล่านี้เป็นเรื่องที่คนอำนาจเจริญต้องร่วมมือกัน พากันสร้าง เมืองธรรมเกษตร เป็นเรื่องของทุกคน นายชาติวัฒน์ กล่าวในตอนท้าย

นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวในหัวข้อคนเมืองธรรมเกษตรจะช่วยกันทำให้อำนาจเจริญเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพรได้อย่างไร โดยกล่าวว่า อำนาจเจริญเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงว่าเป็น เมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองข้าวหอมมะลิ และอีกสิ่งหนึ่งก็คือสมุนไพร พืชพันธุ์ทุกอย่างล้วนเป็นสมุนไพร ปัจจุบันมีการผลิตสมุนไพร ที่โรงพยาบาลพนา ซึ่งเป็นที่ยอมรับ

การที่อำนาจเจริญเป็นเมืองสมุนไพรนั้น จากการตรวจคุณภาพสรรพคุณสมุนไพร พบว่าขมิ้นชันที่ปลูกที่จังหวัดอำนาจเจริญมีตัวยาที่มากที่สุดสูงกว่าที่จังหวัดอื่น 2 เท่า เป็นต้นทุนของอำนาจเจริญที่พร้อม และเมื่อปีที่แล้ว มีการประกาศให้เอาสมุนไพรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และมีการประกาศจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร 13 จังหวัด โดยรวมจังหวัดอำนาจเจริญ

โดยรัฐบาลจะมีการส่งเสริมการปลูก การแปรรูป การจำหน่าย และจะมีการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นในชุมชนทุกอำเภอ จากราคาขมิ้นชันสด กิโลกรัมละ 17 บ้าน เมื่อแปรรูปแล้วจะกลายเป็นกิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกับการปลูกที่เป็นเกษตรอินทรีย์ และเชื่อมโยงสู่เรื่องการท่องเที่ยวต่อไป

นายสำพรต จันทร์หอม เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นนโยบายที่เกษตรจังหวัดต้องดำเนินการ เริ่มต้นจากการเตรียมคน เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรอำนาจเจริญมีจำนวน 2 แสนกว่าคน เกษตรจังหวัดต้องสร้างความเข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์คือวิถีธรรมชาติ วันนี้ป่าต้องกลับมา วันนี้มีป่ามี 11 % เมื่อป่าคืนมาทุกอย่างจะกลับคืนมา ดินต้องกลับมา ต้องมีความอุดมสมบูรณ์ระดับหนึ่ง ตอนนี้อำนาจเจริญมีอินทรีย์วัตถุไม่ถึง 1 % เรื่องน้ำ เพราะอินทรีย์พึ่งพาธรรมชาติเกือบ 100 % ถ้าจะผลิตอินทรีย์ไม่ว่าข้าว ผัก สมุนไพร เรามีความรู้อยู่แล้ว

ถ้าเกษตรกรมีแผนการผลิตที่ดินทุกแปลงสามารถบอกได้ว่า คุณภาพดินจะสามารถผลิตอะไรได้เท่าไหร่ เกษตรกรต้องรู้ข้อมูลพื้นฐาน สำนักงานเกษตรจังหวัดพร้อมแล้วที่จะสื่อสารกับพี่น้อง ภารกิจ เตรียมคน เตรียมพื้นที่ เชื่อมโยงนโยบาย และมีงบประมาณมาหนุนเสริม เพื่อให้เกิดเกษตรอินทรีย์เมืองอำนาจเจริญ

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่ในช่วงเช้า ที่บ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ และเดินทางไปเยี่ยมชมกลุ่มผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตรบ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง ที่สามารถยกระดับเป็นเกษตรต้นแบบอัจฉริยะใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ในการผลิตแปรรูป และการตลาดในอนาคต ก่อนที่จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีในช่วงบ่าย

ทั้งนี้นโยบายสาธารณะวาระเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพร สู่เมืองธรรมเกษตรวิถีอำนาจเจริญ ที่นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานในการลงนามความร่วมมือนโยบายสาธารณะวาระเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพร สู่เมืองธรรมเกษตรวิถีอำนาจเจริญ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ขบวนองค์กรชุมชน และหน่วยงานภาคี มีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีการผลิตเป็นแบบ “ธรรมเกษตร” เป็นเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมที่ดูแลห่วงใยธรรมชาติและรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาการศึกษาเมืองธรรมเกษตรแก่ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นเกษตรอินทรีย์อัจฉริยะในอนาคต
  2. ส่งเสริมให้ประชาชนจังหวัดอำนาจเจริญ มีผลผลิต พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรอินทรีย์ เพื่อการบริโภคดูแลสุขภาพอย่างพอเพียง ปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
  3. ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งน้ำ ไฟฟ้า โรงเรือน ปลูกผัก เทคโนโลยี อุตสาหกรรมแปรรูป แหล่งทุน และการตลาดอย่างจริงจัง เพื่อให้เกษตรกรผู้ทำการผลิตเกษตรและสมุนไพรอินทรีย์ มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการทำการผลิตเกษตรและสมุนไพรอินทรีย์
  4. ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและสมุนไพรที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
  5. ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและสมุนไพรอินทรีย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ ตลอดห่วงโซ่อุปทานและเกิดประโยชน์ต่อจังหวัดอำนาจเจริญให้มากที่สุด
  6. ส่งเสริมค่านิยมให้ประชาชนจังหวัดอำนาจเจริญ มีความภูมิใจและบริโภคผลผลิตเกษตรและสมุนไพรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองสมุนไพร และเกษตรอินทรีย์วิถีเมืองธรรมเกษตรให้เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดอำนาจเจริญ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง