X

“ผักสลัดอินทรีย์” ท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงเกษตร ที่ตำบลไทยสามัคคี

ของขึ้นชื่ออย่างหนึ่งที่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นอกจากสภาพภูมิอากาศแล้ว “ผักสลัด” ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ หลายคนที่เดินทางมาก็จะแวะเวียนไปเยี่ยมชมแปลงผักสลัดอินทรีย์ ที่มีอยู่หลายแห่ง และซื้อผักติดไม้ติดมือกลับไปรับประทาน

สวนผักคนเฮ็ดเวียก ของครอบครัววิชารักษ์ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ พี่ปูกับพี่พิรุณ 2 สามีภรรยาทำแปลงปลูกผักสลัดบนที่ดินสาธารณะ ที่ อบต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว เปิดโอกาสให้เข้ามาทำกินมานานกว่า 10 ปี แล้ว ปีหนึ่งๆ สวนผักแห่งนี้จะผลิตผักสลัดหลากชนิดทั้ง สลัดแก้ว สลัดใบแดง เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค บราๆๆๆ ราคาขายหน้าสวนโลละ 70 บาท รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 4 แสนบาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่าเมล็ดพันธ์ุ ค่าปุ๋ยหมัก ค่าฟาง ค่าน้ำมัน ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ จะเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง ผักสลัดที่ครอบครัวนี้ปลูกจะเป็นผักปลอดสารเคมีเพราะใช้อินทรีย์ ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการด้านอาหารปลอดภัย

ไม่ต่างจาก ลุงอ็อด นามสน กว่า 4 ปีแล้วที่แกออกจากการเป็นโฟร์แมนโรงงานที่บ่อวิน ชลบุรี กลับมาไทยสามัคคี หันมาปลูกผักสลัดร่วมกับป้าแดง ที่เป็นภรรยา หลังจาก อบต.เปิดพื้นที่สาธารณะให้เข้าทำกินบนเนื้อที่ 4 ไร่ ปัจจุบันมีลูกค้าประจำทั้งในและนอกพื้นที่ มาอุดหนุนผักถึงที่แปลง ทุกสัปดาห์แกกับป้าแดงจะเก็บผักสลัดกว่า 10 ชนิด อย่างละ 30 โล ส่งเข้าห้างที่โคราชเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม การปลูกผักสลัดนอกจากจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเชิงเกษตร แต่ก็ต้องประสบปัญหาเมื่อยามหน้าฝน เพราะฝนจะทำให้กระทบกับผลผลิต ทำให้ผักใบแตก รากเน่า หากเกษตรกรได้รับการสนับสนุนโรงเรือน ก็จะส่งผลดีต่อการผลิตและเป็นสถานที่ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปีหากได้รับการส่งเสริม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง