X

คนอำนาจเจริญเปิดเวทีย้ำเจตนารมณ์ไม่เอาโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ EIA ยังไม่ผ่าน ยุติความสับสนข่าวลือสร้างโรงงาน

อำนาจเจริญ/ 21 ธันวาคม 2560 ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ เครือข่ายทรัพยากรอีสาน และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย จัดเวทีสัมมนาวิชาการ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดอำนาจเจริญ ณ ห้องประชุมดลเมธา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กระบวนการทางกฏหมาย แลกเปลี่ยนข้อสงสัยต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของคนอำนาจเจริญ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

นายวิรัตน์ สุขกุล ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองอำนาจเจริญ มีเครือข่ายสวัสดิการชุมชนเต็มพื้นที่ทุกตำบล ที่เป็นกองบุญไทบ้านที่ดูแลซึ่งกันและกันตั้งแต่เกิดจนตาย มีสภาองค์กรชุมชนตำบลเต็มพื้นที่ทั้ง 63 ตำบล ที่มีบทบาทหน้าที่ตามกฏหมาย พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล ในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายสตรี เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายทรัพยากรป่าชุมชน 89 ป่า เครือข่ายน้ำลุ่มน้ำเซบกเซบาย ซึ่งมีชุมชนเป็นคณะกรรมการคอยดูแล เครือข่ายเหล่านี้เป็นเครือข่ายพี่น้องอำนาจเจริญที่ลุกขึ้นมา ดูแลจัดการเรื่องต่างๆ มาโดยตลอด รวมถึงร่วมมือกับภาคีหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

และที่สำคัญพี่น้องได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอำนาจเจริญเมืองธรรมะเกษตร เป็นการลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ตามวิถีฮีตคอง เป็นมิติด้านสังคมเกษตร ที่มีความพอเพียง ฮักแพง แบ่งปัน เอื้ออาทร เป็นสังคมเกษตรที่พร้อมเดินตามศาสตร์พระราชา เดินตามรอยพระบาท ซึ่งต่างจากสังคมอุตสาหกรรมที่เห็นแก่ตัว วิถีวัฒนธรรมคนอำนาจเจริญฮักแพงแบ่งปัน เป็นวิถีเกษตร และวิถีที่ 2 เป็นวิถีการผลิตที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นอำนาจเจริญยังจะเป็นเมืองสมุนไพร และเกษตรอินทรีย์

เมื่อทิศทางการพัฒนาของประชาชนไปทางนี้ แผนจังหวัดก็ไปทางนี้ มีการรณรงค์ให้พี่น้องผลิตเกษตรอินทรีย์ มีการจัดตั้งสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ที่พร้อมจะขยายผลให้เต็มแผ่นดิน แต่เมื่อจะมีการก่อตั้งโรงงาน อย่างโรงงานแป้ง ก่อนตั้งก็บอกว่าจะไม่เหม็น ไม่กระทบ เพราะจะมีการใช้เทคโนโลยีที่ดี แต่เมื่อตั้งเสร็จก็ส่งกลิ่นเหม็นมาตลอด

การที่จะตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการตั้งโรงงาน ซึ่งมีการศึกษาและเสนอไปแล้ว 2 รอบ แต่ยังไม่ผ่าน แต่มีข่าวว่าโรงงานได้เริ่มก่อสร้างตั้งเสาเข็มแล้ว เวทีวันนี้จะมีการคุยทำความเข้าใจกันเพื่อสร้างความชัดเจน ว่าวันนี้โรงงานยังไม่สร้าง โรงงานยังสร้างไม่ได้เพราะ EIA ยังไม่ผ่าน ซึ่งเจตนารมณ์ของขบวนองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบล และภาคีเครือข่าย ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะขัดกับนโยบายทิศทางการพัฒนาของคนอำนาจเจริญ รวมถึงชาวบ้านมีความกังวลเรื่องกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนที่จะตามมา นายวิรัตน์ กล่าว

ด้าน สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิ์ในการตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ตามฐานของสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ (2) มีสิทธิ จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และ (3) สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และมาตรา 58 ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง บุคคล ชุมชน ควรได้รับรู้ ได้ข้อมูล ก่อนการดำเนินการหรือให้อนุญาติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีกฏหมายที่รองลงมา การก่อตั้งโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาล ต้องทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนได้รับการอนุญาติ ต้องมีการทำรายงาน EIA ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการ

ยังมีคำถามหลายเรื่องที่ต้องการความชัดเจน และชาวบ้านต้องได้รับรู้ข้อมูล ต้องมีการศึกษาเรื่องอ้อย จำนวนพื้นที่การปลูก ใช้พื้นที่จากไหน เรื่องการขนส่งอ้อยใช้เส้นทางใด เรื่องการพักอ้อย บด หัน ล้าง ที่ไหนใช้กระบวนการอย่างไร และใช้น้ำจำนวนเท่าไหร่ น้ำมาจากไหน ถ้ามาจากลำเซบาย ชาวบ้านใช้น้ำจากลำเซบายกำหนดการศึกษาผลกระทบรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร ไม่เพียงพอ เพราะนอกรัศมีก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียจากการใช้น้ำด้วย

ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล การเผาไหม้ มีฝุ่นละออง มีผลกระทบหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีอยู่ในรายงาน EIA ในกระบวนการมีส่วนร่วมต้องให้ข้อมูลชาวบ้าน สร้างความเข้าใจ ซักถาม ตอบข้อสงสัย ไม่ใช่จัดเวทีให้ข้อมูลทางเดียวอย่าง 2 ครั้งที่ผ่านมา และรายงาน EIA ชาวบ้านต้องมีโอกาสได้ศึกษาทำความเข้าใจด้วย ชุมชนมีสิทธิขอรายงาน EIA ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เมื่อเราเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน เราสามารถโต้แย้งได้ นำเสนอประเด็นเข้าสู่คณะกรรมการผู้ชำนาญการได้
กระบวนการขออนุญาติตั้งโรงงาน ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตามกฏหมายยังตอกเสาเข็มไม่ได้ถ้ายังไม่ได้ใบอนุญาติ ถ้าสร้างก็คือผิดกฏหมาย ชุมชนมีสิทธิ์ในการเห็นด้วย ก็สามารถเสนอประเด็นได้ ด้านไม่เห็นด้วยก็สามารถเสนอประเด็นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการตัดสินใจ ถ้าจะคุยกันบนฐานข้อมูลข้อเท็จจริง

กรณีทิศทางการพัฒนาอำนาจเจริญเมืองธรรมะเกษตร การมีโรงงานสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดหรือไม่ และสอดคล้องกับทิศทางในภาพรวมเชิงนโยบายด้วยหรือไม่ การเกิดโครงการต้องเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนทางกฏหมาย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาตอกเสาเข็มตั้งโรงงานได้เลย เพราะการประกอบกิจการใดๆ ต้องปฏิบัติตามกฏหมาย การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เมื่อโรงงานน้ำตาลเสนอเข้าไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ผ่าน ก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอเข้าไปใหม่ สิ่งนี้เป็นปัญหาทางกฏหมายที่ไม่ได้กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการจะมีความเห็นอย่างไร ปัจจุบันทางโรงงานสามารถแก้ไขและส่งเข้าไปได้เรื่อยๆ ในขณะที่ภาคประชาชนมีการผลักดันให้แก้กฏหมาย หากเสนอไม่ผ่านควรไม่ออกใบอนุญาติ

แต่ที่ผ่านมา EIA คือกระบวนการออกใบอนุญาติให้ตั้งโรงงาน ซึ่งสิ่งสำคัญควรจะมีเวทีประชาพิจารณ์ก่อนที่จะมีโครงการ ก่อนที่จะกำหนดว่าควรมีกิจกรรมใดหรือไม่ ควรมีการฟังเสียงคนอำนาจเจริญก่อน เพราะคนอำนาจเจริญมีทิศทางการพัฒนาจังหวัดที่จะเป็นเมืองธรรมะเกษตร พื้นที่ปลูกอ้อยจะไปทับซ้อนกับพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการตัดสินใจที่มีส่วนร่วม ถ้าจะมีโรงงานน้ำตาลควรมีการคุยกันตั้งแต่ต้นทาง
และยังมีอีกหลายประเด็น โรงไฟฟ้าชีวมวล ใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อย จะใช้ปริมาณชานอ้อยเท่าไหร่ และถ้าอ้อยไม่พอจะใช้อะไร ตัวอย่างเช่นที่ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าชีวมวล 41 เม็กกะวัตต์ มีการเปลี่ยนวัตถุดิบเชื้อเพลิงเป็นถ่านหิน ที่อำนาจเจริญจะเป็น 61 เม็กกะวัตต์ จะใช้เชื้อเพลิงจากอะไร และเรื่องการปนเปื้อนสารเคมี การฟื้นฟูดินและน้ำ จะใช้เวลานานในการฟื้นฟู เรื่องเหล่านี้ก็ต้องอยู่ในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านต้องตรวจสอบ เพราะชาวบ้านมีสิทธิในการตัดสินใจก่อนที่จะเกิดกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวในตอนท้าย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่วิทยากรได้เปิดประเด็นและให้ข้อมูลต่างๆ มีการเปิดให้แลกเปลี่ยนซักถาม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลายคนลุกขึ้นอภิปราย โดยส่วนใหญ่จะเสนอข้อมูล และประเด็นที่เป็นผลกระทบหากมีการก่อสร้างโรงงานขึ้นในพื้นที่ โดยในช่วงท้ายผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแสดงสัญลักษณ์มือกากบาทไม่เห็นด้วย และส่งข้อมูลให้กับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ศึกษารายละเอียดในด้านกฏหมายต่อไป

เรื่อง/ภาพ : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง