สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับ UNDP นิเทศจุฬา และกองทุนสื่อฯ จัดการอบรมในหัวข้อ “ทลายอคติทางเพศเพื่อโอบรับสังคมที่หลากหลาย” หวังสร้างสังคมเท่าเทียม
กรุงเทพฯ – คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางอุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) กล่าวในพิธีเปิด การอบรมเชิงปฏิบัติการ “Addressing Gender Biases through Journalism and Communications” (ทลายอคติทางเพศเพื่อโอบรับสังคมที่หลากหลาย) ว่า การอบรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนา UNDP Media Fellowship ที่จะดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2567 ถึง มีนาคม 2568 โครงการดังกล่าวประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การนำเสนอเรื่องคนพิการในสื่อ 2.การนำเสนอเรื่องธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การจัดการอคติทางเพศ และ 4. การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้นักข่าวในการทำหน้าที่ และผลักดันให้เกิดความยั่งยืนจากบทบาทของสื่อมวลชน
อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ กล่าวว่า “การรายงานข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบัน มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยทลายอคติ ความเชื่อ และการเลือกปฏิบัติที่ฝั่งรากลึกในสังคม หรือในการทางกลับกัน อาจเป็นการตอกย้ำอคติเหล่านั้นโดยไม่ตั้งใจ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักข่าวต้องมีความเข้าใจถึงมิติต่างๆ ของความหลากหลายทางเพศ เรียนรู้การใช้ภาษาที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพัฒนาทักษะการรายงานข่าวที่ครอบคลุมและเป็นธรรม เพื่อร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางอุษากล่าว
โครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development ได้จัดการอบรม ในหัวข้อ “ทลายอคติทางเพศเพื่อโอบรับสังคมที่หลากหลาย” โดยวิทยากรจากองค์กร ภาคีเครือข่าย นักวิชาการ และผู้มีประสบการณ์ตรง ได้ให้เกียรติมาพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ทำหน้าที่ในการนำเสนอเนื้อหาข่าว ภาพข่าว รวมถึงการแสดงความคิดเห็น ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ณ ห้องสมุด Nitade X Space ชั้น 5 อาคารนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 และ 10 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
ข่าวน่าสนใจ:
การอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, UNDP , คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: