กรุงเทพฯ – เมื่อวานนี้ 4 ส.ค. 2567 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จับมือสมาคมนักข่าวฯ ผลักดันนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ หวังยกระดับมาตรฐานการทำงานของสื่อ โดยเริ่มจากการสร้างความปลอดภัยในการทำงาน
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยผลักดันการสร้างนโยบาย และกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ
การจัดงานเสวนานโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2567 เวลา 13:00-15:00 น. ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาทั้งหมด 8 ท่าน จากภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคสื่อมวลชน ประกอบไปด้วย องค์กรสิทธิ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องเพศและความเท่าเทียม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ เพศสถานะ เพศวิถี และความหลากหลายทางเพศ ตัวแทนจากวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ
วิทยากรที่ร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหิดล, ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ธรรมศาสตร์, คุณรัตนา ด้วยดี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหิดล, คุณอุษา มีชารี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย , คุณปวีณา ชูรัตน์ 3PlusNews และ คุณสุเมธ สมคะเน ไทยรัฐ
ข่าวน่าสนใจ:
- เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยลุ่มน้ำโขง
- All In One ตะวันออก เที่ยวได้ทุกเจน(วัย) เที่ยวได้ทุกวัน
- TAT ททท.จัดใหญ่จัดเต็มบิ๊กอีเวนต์ "มหากรรมเสน่ห์ไทย" 5 ภูมิภาค เทศกาลตลอดกันยายนนี้
- ขอนแก่น จับมือภาคเอกชน จัดงานมหกรรมหมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์ “ปลาร้าหมอลำ ISAN to the World” ส่งท้ายปีนี้ 26-29 ธันวาคม 2567
ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึง ปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงานถือเป็นปัญหาระดับโลก สิ่งที่องค์กรมักลืมและควรตระหนักคือต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าการคุกคามทางเพศในองค์กรนั้นคือประเด็นเดียวกับการคุกคามทางเพศโดยทั่วไป คำสำคัญคือ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation) โดยใช้อำนาจในองค์กร การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทำให้เกิดความชัดเจนว่าการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อไม่ใช่การคุกคามทางเพศทั่วไป แต่มีราคาที่ทุกคนในองค์กรต้องจ่าย มีการได้และเสียประโยชน์ ผ่านการใช้เรื่องเพศสร้างประโยชน์แอบแฝง และไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะคู่กรณี แต่ทุกคนในองค์กรได้รับผลกระทบ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในองค์กรและรวมทั่งสังคมได้รับผลกระทบทั่วกัน
และเน้นย้ำว่า สื่อจะเรียกร้องความเท่าเทียมให้คนในสังคมได้อย่างไร ถ้าองค์กรยังขาดธรรมาภิบาลและมีการคุกคามทางเพศอยู่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทรงพลังในด้านผลกระทบ สื่อจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานในวิชาชีพสื่อ
คุณอุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรสื่อควรตระหนักเรื่องเพศและการคุกคามทางเพศ เพราะคนทำข่าวเรียกร้องสิทธิให้คนอื่นแต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง สื่อต้องผลักดันประเด็นนี้เพื่อคืนกลับสิทธิและเสรีภาพให้กับสื่อเอง เพื่อนักข่าวสามารถเรียกร้องสิทธิให้กับสังคมต่อไป
คุณสุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าวว่าหากพี่น้องผู้สื่อข่าวถูกคุกคามทางเพศ หรือมีปัญหาเรื่องนี้ ทุกคนสามารถเดินมาหาหรือหลังไมค์มายังสมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยหรือสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เรายินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทุกคน เราจะเป็นตัวกลางและช่องทางประสานงานทางด้านกฎหมายให้พี่น้องสื่อ และเคยพูดคุยในประเด็นนี้กับทางสมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอยากจัดทำโครงการอบรมการทำข่าวอย่างปลอดภัยสำหรับนักข่าวผู้หญิง โดยมีการสอนวิธีป้องกันหลายระดับให้กับนักข่าวผู้หญิงแต่ตอนนี้ยังขาดแหล่งทุน
การจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ได้รับการร่วมมือระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม เสริมสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงานสื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงกลไกและนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: