X

ไฮเทค…กรมอุทยานฯ

เมื่อช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำตู้จำหน่ายบัตรค่าธรรมเนียมอัตโนมัติ ไปติดตั้งในอุทยานแห่งชาติ 2-3 แห่ง หนึ่งในนั้นคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งตู้จำหน่ายค่าธรรมเนียมอัตโนมัตินี้ จะลดการสัมพันธ์กันระหว่างเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว เป็น new normal  ในการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ในขณะที่ไวรัสโควิด 19 ยังคงระบาด   นี่จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะลดการแพร่เชื้อสู่กัน  อีกทั้งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานด้วย

ตู้จำหน่ายบัตรค่าธรรมเนียมอันโนมัติที่เพิ่งเริ่มติดตั้ง

อันที่จริงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานแล้วหลายอย่างทั้งในงานด้านวิชาการ การศึกษาวิจัย หรืองานด้านการป้องกันปราบปรามผู้กระทำความผิด

เราเห็นภาพสัตว์ป่าที่สำคัญ หายาก ทั้งสมเสร็จ   เสือดาว เสือดำ  เสือโคร่ง นกหว้า ช้าง กระทิง วัวแดง  เห็นพฤติกรรมของสัตว์จากกล้องดักถ่ายที่นำไปติดตั้งไว้ตามด่านสัตว์ ที่สัตว์ป่าจะเดินผ่าน ซึ่งมีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว   ทำให้เราได้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่าไทย ว่านอกจากจะมีต้นไม้แล้วยังมีสัตว์ป่า  ทำให้คำว่าป่ามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ปริมาณและชนิดของสัตว์ป่าเหล่านี้จะถูกนำไปเป็นข้อมูลของนักวิชาการในการวางแผนการจัดการบริหารและป้องกันพื้นที่ป่าด้วย

งานด้านปราบปราม ป้องกันดูแลพื้นที่ป่าทั้งการล่าสัตว์ ตัดไม้   กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ล้ำหน้าไปกว่านั้น    โดยใช้กล้องวงจรปิด  ติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ ในป่า เพื่อคอยจับตาดูผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด  เช่นเมื่อมีคนเข้าป่าไปเพื่อล่าสัตว์ หรือลักลอบตัดไม้  กล้องจะบันทึกภาพไว้แล้วส่งสัญญาณไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติที่มีศูนย์คอย monitor  อุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ๆ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการจับกุม ไม่ต้องเปลืองกำลังเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมาเฝ้า มาซุ่มรอ   อีกทั้งภาพที่บันทึกยังเป็นการเก็บหลักฐานไว้เอาผิด เช่น พรานถือปืนเข้าไปในป่า  แต่ขาออกซ่อนปืนเอาไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปจับกุม ไม่พบปืน เขาก็อาจจะอ้างว่า แค่มาหาของป่าไม่ได้มาล่าสัตว์   แต่เมื่อมีหลักฐานว่าถือปืนเข้าไป จึงยากจะปฏิเสธ

ซึ่งวิธีการดักถ่ายแล้วส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อการจัดส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการนี้  มีการนำไปใช้กับพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าออกมารบกวนพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านด้วย   โดยการติดตั้งเครื่องตรวจสัญญาณต่างๆหรือกล้องถ่ายภาพ พอช้างออกมานอกพื้นที่ก็จะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ข้อมูล พอได้รับข้อมูลและรู้พิกัดแล้ว ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปไล่ช้างให้กลับเข้าป่าเช่นเดิม  มีหลายพื้นที่ที่ทำแบบนี้ เช่นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ส่วนการลาดตระเวนตรวจตราพื้นที่นั้น    การออกลาดตระเวนทางภาคพื้นดินที่เรียกว่า  Smart  patrol นั้น เป็นการออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ นอกจากเป็นการป้องปรามผู้ที่ลักลอบกระทำความผิดแล้ว ยังเป็นการเก็บข้อมูลทุกด้านในป่า สัตว์ป่า พืชพรรณ ร่องรอย  ดินโป่ง  หินถล่ม ถ้ำพัง ฯลฯ จะถูกเก็บข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งการถ่ายภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง  แล้วนำข้อมูลไปจัดทำในแผนที่ของพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ   ทำให้แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ลาดตระเวนก็จะรู้ข้อมูลไปด้วยจากการทำแบบนี้นี่เอง

นอกจากการลาดตระเวนทางภาคพื้นดินแล้ว   ยังมีการใช้อากาศยานหรือเครื่องบินบังคับ  ออกบินตรวจพื้นที่ทางอากาศ  มีทั้งการเก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อดูพื้นที่บุกรุก    การตัดไม้ทำลายป่า การลาดตระเวนแบบนี้ทำได้เป็นพื้นที่กว้าง ใช้เวลาไม่นาน  ไม่เปลืองกำลังพล และประหยัดค่าใช้จ่าย   ซึ่งมีการทำแบบนี้ในหลายพื้นที่แล้ว

ทั้งกำลังมีการดำเนินการพัฒนาระบบการจองบ้านพัก การชำระค่าบริการต่าง ๆ ผ่านร้านสะดวกซื้อ  รวมทั้งการพัฒนาแอพพิเคชั่นต่าง ๆ ในการเข้าสู่ข้อมูลที่เป็นความคืบหน้าต่าง ๆ ให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการด้านข้อมูลข่าวสารด้วย รวมทั้งการติดกล้องไปกับเจ้าหน้าที่ให้เห็นการเดินลาดตระเวน เห็นการทำงานของเข้าหน้าที่ในป่า แบบ real time  เจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงานเห็นอย่างไร คนที่ตามดูก็จะเห็นแบบนั้นเหมืนการถ่ายทอดสด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสัญญานอินเตอร์เนตในบางพื้นที่อยู่บ้าง   แต่ในอนาคตคงมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่  แต่หาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยดำเนินการ  ให้ทันสมัยและสนองตอบความต้องการสมัยใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ของสังคมในการใช้บริการนั่นเอง…

………..

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน