X

กฟผ แม่เมาะยันสาเหตุหลักฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ในช่วงเดือนมกราคม – เดือนเมษายน ของทุกปีจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มักประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน โดยสาเหตุสำคัญมาจากความแห้งแล้งตามฤดูกาลทำให้เกิดไฟป่า กิจกรรมที่ทำให้เกิดการสันดาป รวมถึงการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแม่เมาะมักถูกกังขาจากสังคมว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด PM2.5 ในจังหวัดลำปาง
เพื่อหาคำตอบให้ประชาชนและบางกลุ่มองค์กรที่ยังมีความกังวลใจต่อแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ ได้ร่วมกับคณะผู้วิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบต้นแบบสำหรับตรวจวัดและจำแนก PM2.5 เพื่อแยกอนุภาคฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า และฝุ่นชนิดอื่น โดยได้ดำเนินการใน 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้


1. การหาแหล่งกำเนิดและจำแนกเอกลักษณ์ของฝุ่นเพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล มีระยะดำเนินการปี 2563-2564 โดยเก็บตัวอย่างฝุ่นจากแหล่งกำเนิด 7 แหล่งหลัก ได้แก่ แหล่งเผาไหม้ชีวมวล, เหมืองถ่านหินลิกไนต์, ยานพาหนะ,โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เหมืองหินปูนและจุดทิ้งขี้เถ้า, โรงงานผลิตเซรามิก, และฝุ่นละอองดิน โดยแบ่งการวิเคราะห์ฝุ่นออกเป็น 2 ช่วง ซึ่งผลการวิเคราะห์จากข้อมูล 1 ปี พบว่าในฤดูปกติ (พ.ค.-ธ.ค.) ปริมาณ PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 19 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาจากฝุ่นละอองดินนอกพื้นที่ คิดเป็นสัดส่วน 60.4% ฝุ่นจากการเผาไหม้ชีวมวล 6.9% ขณะที่ฝุ่นที่เกิดจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะโดยตรง เช่น เถ้าลอย เถ้าก้นเตา และยิปซัม ซึ่งเป็นวัตถุพลอยได้จากการเผาไหม้ของถ่านหินและจากระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า และฝุ่นจากปล่องระบายมลสารของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คิดเป็นสัดส่วน 7.9% ส่วนในฤดูฝุ่นควัน (ม.ค.-เม.ย) พบว่า ฝุ่นจากการเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่งกลายเป็นแหล่งกำเนิดหลัก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 49.3% ขณะฝุ่นที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีสัดส่วนต่ำกว่า 1% เท่านั้น
2. จากฐานข้อมูลข้างต้น ในปี 2566 ทีมวิจัยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดก๊าซและฝุ่นละอองในบรรยากาศ (E-nose) บริเวณรอบชุมชน อ.แม่เมาะ 9 แห่ง ได้แก่ บ้านท่าสี, สวนป่าแม่เมาะ, บ้านหัวฝาย, สวนเฉลิมพระเกียรติฯ กฟผ.แม่เมาะ, โรงเรียนแม่เมาะวิทยา, บ้านห้วยคิง, แผนกสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ, บ้านสบป้าด และบ้านแม่จาง เพื่อเก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบ AI เพื่อการประมวลผลให้ฉลาดและแม่นยำมากขึ้น
3. นำข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน Air Detector ซึ่งจะแสดงผลตรวจวัดจากเครื่อง E-nose ที่ติดอยู่ทั้ง 9 จุด ใน อ.แม่เมาะ โดยแสดงผลค่า PM2.5 แบบจำแนกสัดส่วนของแหล่งกำเนิด และดัชนีคุณภาพอากาศ ณ เวลาปัจจุบัน โดยในอนาคตจะนำการแสดงผลนี้รวมเข้ากับ City Data Platform ของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ เพื่อให้การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมใน อ.แม่เมาะ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในงานวิจัยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานแต่อย่างใด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน