X

กฟผ.เหมืองแม่เมาะ จับมือ 4 มหาวิทยาลัยนำเยาวชนนักศึกษา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานกระบวนการทำเหมือง


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ บูรณาการร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกตำราเรียน ภายใต้โครงการ “สานความร่วมมือทางการศึกษา ออกค่ายวิชาการสัมพันธ์” ร่วมกันนำนิสิตนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากทั้ง 4 สถาบัน ลงพื้นที่เยี่ยมชมบ่อเหมืองลิกไนต์ ของ กฟผ.เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาดูงานกระบวนการขั้นตอนการทำเหมืองแร่ในด้านต่างๆ เริ่มตั้งแต่กระบวนการสำรวจจัดหาจัดเตรียมพื้นที่แหล่งแร่ การวางแผนบริหารจัดการเครื่องมืออุปกรณ์ทั้งเครื่องจักรกลหลักและเครื่องจักรกลช่วยสนับสนุน การจัดวางกำลังคน การก่อสร้างองค์ประกอบต่างๆ ของเหมือง เช่น ถนน สะพาน ผนังกั้นน้ำ คลองผันน้ำ สำนักงาน ที่ทิ้งดิน และอื่นๆ ตลอดจนการวางแผนการดำเนินงานที่จะต้องใส่ใจ ทั้งเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การควบคุมทางด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องจักร การสื่อสาร และการฟื้นฟูสภาพเหมืองหลังเสร็จสิ้นการดำเนินการ โดยในการศึกษาดูงานครั้งนี้ได้เน้นไปในเรื่องการปฏิบัติงานเปิดหน้าขุมเหมืองเป็นหลัก ให้นักศึกษาได้ดูวิธีการขั้นตอนการทำงานจริง และได้พูดคุยกับผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงได้ลงมือปฏิบัติจริงในบางขั้นตอนด้วยตนเอง


โดยนายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ได้กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมการออกค่ายวิชาการดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินงานส่วนหนึ่ง ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ และ มหาวิทยาลัยการศึกษาทั้ง 4 แห่ง ได้มีการลงนามทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน ในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการด้านเหมืองแร่ เพื่อจะเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ฯ ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ ศึกษาขั้นตอน ดูกระบวนการการทำเหมืองเพื่อเสริมประสบการณ์นอกตำราเรียน

ซึ่งภายใต้บันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือทางวิชาการด้านเหมืองแร่ ทางหน่วยงาน (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยสนับสนุน ด้านสถานที่แหล่งเรียนรู้และจัดอบรมในรูปแบบค่ายวิชาการเป็นประจำทุกปี เน้นการถ่ายทอดให้ความรู้ในสถานที่ดำเนินงานจริง ที่จะเชื่อมโยงกับความหลากหลายในอุตสาหกรรมการทำเหมือง เพื่อจะให้นิสิตนักศึกษาที่ผ่านกิจกรรมค่ายวิชาการ ได้มีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาวิทยาการเหมืองแร่ รวมถึงได้เรียนรู้สัมผัสกับนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำเหมืองมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นส่งเสริมให้เยาวชนนิสิตนักศึกษาเกิดสนใจใคร่รู้ในเรื่องวิทยาการและเทคโนโลยีการทำเหมืองให้กว้างขวาง เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สามารถที่จะนำความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมไปพัฒนาต่อยอดในระยะยาว ช่วยเสริมองค์ความรู้ในห้องเรียน เพื่อจะพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งจะได้นำเอาองค์ความรู้นั้นกลับมาใช้ประโยชน์สร้างนวัตกรรมให้เอื้อต่อการพัฒนาและวิจัยด้านเหมืองแร่ เพื่อเป็นคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน