วันนี้ (16 สิงหาคม 2564) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ โดยกองการแพทย์แม่เมาะ ร่วมกับสาธารณสุข อ.แม่เมาะ และโรงพยาบาลแม่เมาะ ปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้เคียงสถานที่ทำงานของผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ รวมถึงกลุ่มสายงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.แม่เมาะ ตามมาตรการ Bubble and Seal โดยจะดำเนินการตรวจวันละ 100 คน รวมทั้งหมด 300 คน ณ จุดตรวจคัดกรอง ATK ของกองการแพทย์แม่เมาะ เพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ปฏิบัติงานและชุมชนรอบข้าง ซึ่งผลการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 100 คนแรกในวันนี้ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 ในผู้รับการตรวจทั้งหมด ในโอกาสนี้ นายอดิศักดิ์ กิจเจริญธนารักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 พร้อมด้วยผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ ได้เข้าให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานและบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
สำหรับการระบาดระลอกใหม่นี้ ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อทั้ง 3 ราย ได้เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ส่วนผลการตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมดมีผลเป็นลบ แต่ยังให้ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงกักกันตัวเอง โดยปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย เป็นเวลา 14 วัน ตลอดจนเฝ้าสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ หายใจติดขัด ให้แจ้งหน่วยงานทางการแพทย์ของ กฟผ.แม่เมาะ ทันที โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดจะต้องรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง เมื่อดำเนินการกักกันตัวเองครบ 14 วัน
ทั้งนี้ กฟผ.แม่เมาะ ยังคงดำเนินตามมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดอย่างเข้มข้นและจริงจัง โดยคัดกรองบุคคลภายนอกที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาติดต่องานภายในพื้นที่อย่างเข้มงวด พร้อมนำมาตรการ Bubble and Seal เข้ามาใช้ในพื้นที่ โดยจะจัดผู้ปฏิบัติงานแยกเป็นกลุ่ม พร้อมควบคุมไม่ให้มีกิจกรรมข้ามกลุ่ม เน้นให้ปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย และขอความร่วมมือให้ผู้ปฏิบัติงานเลี่ยงการแวะทำกิจกรรมที่ไม่จำเป็นระหว่างการเดินทางไปกลับที่พักอาศัย นอกจากนั้นได้จัดเตรียมพื้นที่พักคอย (Factory Accommodation Isolation) ไว้ที่อาคารถิ่นเทเวศร์และอาคารอเนกประสงค์ สำหรับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในปัจจุบัน ทั้งเตรียมเป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อที่ระดับอาการไม่รุนแรง กรณีเตียงของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงต่อการระบาดที่อาจกระทบต่อความมั่นคงในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: