X

ลำปางนักวิจัย สวทช. เผยผลการวิจัยการประเมินวัฏจักรชีวิต ค่ามวลสาร CO2 ของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ พบแนวโน้มค่าที่ดี

นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ-1 เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาผลการดำเนินงานภายใต้โครงการ “การประเมินวัฏจักรชีวิตและพัฒนาระบบตรวจติดตามและวิเคราะห์ค่ามวลสารคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์”ว่า ผลการวิจัยกระทบทางสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีแนวโน้มลดลงโดยดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายสรุปผลการวิจัย ประสิทธิภาพการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเครื่องที่ 1 (MM-T1) มีค่าสูงกว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 เดิม และอัตราการใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่ลดลง เมื่อพิจารณาค่าคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint : CFP) ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-13 ในปี 2560 ที่มีค่า CFP 1.10 กิโลกรัมต่อหน่วยการผลิต 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) พบว่าค่า CFP ในปี 2563 ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13 และ โรงไฟฟ้า MM-T1 (ทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7) มีค่าลดลงเหลือ 0.93 กิโลกรัมต่อหน่วยการผลิต 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-13 และ MM-T1 พบว่ามีค่าผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย และ เยอรมนี เป็นต้น

โครงการการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment :LCA) และพัฒนาระบบตรวจติดตามและวิเคราะห์ค่ามลสารคาร์บอนไดออกไซด์ของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ เป็นงานวิจัยร่วมระหว่างฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีระยะดำเนินการทั้งหมด 2 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 – เดือนมกราคม 2563 โดยมีขอบเขตการดำเนินงานวิจัย ได้แก่ การประเมินวัฏจักรชีวิตและพัฒนาระบบตรวจติดตามและวิเคราะห์ค่ามลสาร CO2 ของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ ตลอดจนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการใช้น้ำของกระบวนการผลิตถ่านหินลิกไนต์และหินปูนจากเหมืองแม่เมาะ

ทั้งนี้ ผลการวิจัยจะแสดงให้เห็นถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในกระบวนการ ผลิตกระแสไฟฟ้า ของ กฟผ.แม่เมาะ ตลอดจนสามารถนำค่าไปเป็นตัวกำหนดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ GHG ในปีต่อๆ ไป นอกจากนั้นผลลัพธ์จากการศึกษาโครงการจะทำให้ได้ระบบ EGAT Green House Gas Scan (EGAT GHG Scan) เป็นระบบติดตามออนไลน์ที่แสดงผลค่าวัตถุดิบหลักในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ได้ มลภาวะจากการผลิต และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อนำมาเป็นค่าอ้างอิงในการวิเคราะห์ พัฒนา ปรับปรุง คุณภาพในการผลิตในอนาคตอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน