X

กระบี่ กลุ่มต่อเรือหัวโทงตลิ่งชัน มีออเดอร์ล้นมือ หลังโควิด-19คลี่คลาย ยอดสั่งพุ่งทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

กลุ่มต่อเรือหัวโทงตลิ่งชัน มีออเดอร์ล้นมือ หลังโควิด-19คลี่คลาย ยอดสั่งพุ่งทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน สร้างรายได้แก่ครอบครัวคนในชุมชน  ด้านนายอำเภอหวั่นอนาคต หากไม่มีผู้สืบทอด ภูมิปัญญาเหล่านี้จะหายไป

วันที่ 26 พ.ย.65 นายเศวตฉัตร สุวรรณรัตน์ อำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ พร้อมนายอะหมาน หมัดอะดัม ผอ.ททท.สนง.กระบี่ พร้อมผู้สื่อข่าวเข้าเยี่ยมชม ศูนย์เรียนรู้เรือหัวโทงจำลอง ในพื้นที่ ม.1 บ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยมีนายสุเมธ คลองยวน หรือบังโหด อายุ 56 ปี นายช่างต่อเรือหัวโทง ให้การต้อนรับ

ในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันหลังศูนย์เรียนรู้พบโครงเรือที่กำลังขึ้นโครงร่าง 5-6 ลำ มีนายช่างกำลังขะมักเขม่นใช้ตะปูตอกยึดกับโครงเรือ ขึ้นโครงเรือ ซึ่งเรือที่กำลังสร้างอยู่นี้มีออเดอร์สั่งจอง ทั้งในจังหวัดกระบี่เอง และจังหวัดที่ใกล้เคียง รวมถึงประเทศมาเลเซีย ก็มียอดจองเรือหัวโทงเข้ามาด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักลง วันนี้สถานที่ต่อเรือแห่งนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง คนในหมู่บ้านมีงาน มีรายได้ เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ภายในศูนย์เรียนรู้เรือหัวโทงจำลองตลิ่งชัน ได้มีการสอนการต่อเรือหัวโทงจำลอง เพื่อถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาเหล่านี้แก่เยาวชนที่สนใจ เรือหัวโทงจำลองที่ต่อขึ้น สามารถนำไปต่อยอดเป็นรายได้ เลี้ยงครอบครัว จำหน่ายให้แก่นทท.นำไปตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร เป็นของที่ระลึก นอกจากนี้ยังสามารถทำโต๊ะรับแขกในรูปแบบเรือหัวโทงจำลองได้อีกด้วย ซึ่งเรือหัวโทงจำลองบ้านตลิ่งชันแห่งนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของจังหวัดกระบี่

นายสุเมธ เผยว่า ภูมิปัญญาต่อเรือหัวโทงแห่งนี้ ตนรับถ่ายทองมาจากรุ่นพ่อ ตอนนี้ตลาดที่มียอดสั่งจองแทบทุกจังหวัดในโซนภาคใต้ เรือขนาด 19 ตัวกง ราคา 1.1แสนบาท เรือขนาด 21 ตัวกง ราคา 1.5 แสนบาท เรือขนาด 23 ตัวกง ราคา 2.5 แสนบาท ตอนนี้เริ่มถ่ายทอดวิชาให้ลูกชายรับช่วงต่อ ส่วนรายได้ที่ได้จากการรับจ้างต่อเรือก็พออยู่ได้ ก่อนหน้าโควิด-19ระบาด ได้เปิดศูนย์เรียนรู้การต่อเรือจำลอง แต่พอโควิด-19 ระบาดรุนแรงก็ต้องหยุดชะงักไป ส่วนระยะเวลาในการต่อเรือแต่ละลำ 10-15 วัน แต่ก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ถ้าฝนตกก็จะนานขึ้น ซึ่งเรือที่รับจ้างต่อมีตั้งแต่ 9-27 ตัวกง แล้วแต่ลูกค้า ตอนนี้มีลูกค้าในประเทศมาเลเซียมีสั่งจองเข้ามาด้วย ตลาดเริ่มขยายตัว

อำเภอเหนือคลอง กล่าวว่า สำหรับวันนี้นะครับได้มีโอกาสมานำชมภูมิปัญญาของท้องถิ่นของคนตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการต่อเรือหัวโทง เรือหัวโทงที่เห็นอยู่นี้ เป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ไปแล้ว ในปัจจุบันแต่ดั้งเดิมนั้นทการต่อเรือหัวโทง ก็เป็นการต่อเรือใช้เพื่อการประมง แต่บ้านเมืองเปลี่ยนไป เมื่อจังหวัดกระบี่เปิดประตูสู่การท่องเที่ยว การต่อเรือหัวโทง ก็นำไปสู่การใช้เพื่อการท่องเที่ยว

ผมมีความกังวลมากปัจจุบันนี้ช่างต่อเรือหัวโทง ซึ่งเป็นภูมิปัญญานั้นจากเดิมที่อยู่คู่กับชุมชนมาเป็นร้อยๆปีนั้นมีจำนวนลดน้อยลงไป เพราะว่าการส่งเสริมให้เรียนรู้วัฒนธรรมของท้องถิ่นแผนกนี้ในเรื่องของการต่อเรือ ปัจจุบันนี้ต้องฟื้นฟูให้ให้มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่ออนุรักษ์ แล้วก็เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชน ลักษณะของการต่อเรือแต่ละแบบ ที่เราเห็นถ้าดูผิวเผินเป็นลักษณะเหมือนเหมือนเดิมแต่จริงๆแล้วอาศัยความชำนาญของช่าง เพราะว่าไม่มีแบบมาตรฐาน ไม่มีแบบเหมือนการสร้างบ้าน ที่มีมีรายละเอียดรายการก่อสร้าง

ภูมิปัญญาของท้องถิ่นต้องอาศัยการจดจำและลักษณะของการต่อเรือจะไม่เหมือนกัน เช่นเรือแต่ละขนาด ตัวโครงต้องกว้างกี่เมตร ปากกว้างกี่เมตรราคาก็จะไม่เท่ากัน บางลำขนาดของตัวกงก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า บางคนนำเรือหัวโทงไปใช้เพื่อบรรทุกวัสดุ ก็จำเป็นจะต้องใช้เรือขนาดใหญ่ จึงไม่มีแบบมาตรฐานตายตัว

อำเภอเหนือคลอง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ถ้าเราไม่มีการส่งเสริมอนุรักษ์ไว้ในอนาคต ภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นเหล่านี้ก็จะหายไป ซึ่งผมกังวลและก็พยายามที่จะส่งเสริม ในส่วนของวัสดุเหลือใช้ส่วนใหญ่จะนำไปเผาทิ้ง ก่อให้เกิดมลภาวะ จึงมีแนวคิดอยากให้นำวัสดุที่เหลือใช้เหล่านี้มาถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชน มาต่อเรือจิ๋ว ใช้สเกลของจริง เป็นเรือขนาดเล็ก 1-1.5 เมตร ออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน หรืออาคาร โรงแรมต่างๆ โชว์ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกระบี่ได้เห็นถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานับร้อย ๆ ปี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน