กมธ.ที่ดินฯ เตรียมเบรกเปิด “อ่าวมาหยา” หลังพบปัญหาแก้แบบก่อสร้างท่าเทียบเรือ ไม่ขออนุญาตเจ้าท่า
จากกรณีที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรืออ่าวโล๊ะซามะ ด้านหลังของอ่าวมาหยา บนเกาะพีพีเล จ.กระบี่ ให้แล้วเสร็จทันกำหนดที่จะเปิดให้ นทท.เข้าเที่ยวชมอ่าวมาหยา ได้อีกครั้งในวันที่ 1 ม.ค.65 หลังถูกปิดเพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติมานานตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.61 รวมเวลา 3 ปีเศษ จนสภาพธรรมชาติกลับมาฟื้นตัวสวยงามอีกครั้ง โดยกรมอุทยานฯ เตรียมแผนรองรับการเปิดอ่าวครั้งใหม่ ด้วยการสร้างเส้นทางเดินบอร์ดเวย์ บนพื้นที่เกาะ เพื่อไม่ให้ นทท.เหยียบย่ำไปบนพื้นทรายบนเกาะ รวมถึงท่าเทียบเรืออ่าวโล๊ะซามะ เพื่อไม่ให้เรือเข้าบริเวณหน้าอ่าว
วันที่ 12 ธ.ค.64 คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร โดยการนำของนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.เขต 2 กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ที่ดินฯ นำคณะ กมธ.ที่ดินฯ เข้าตรวจสอบกรณีบริษัทรับเหมาของเอกชน ยื่นร้องเรียนไปยัง กมธ.ที่ดินฯ ถึงปัญหาการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยเข้าประชุมเรื่องดังกล่าวที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ โดยมีนายปราโมทย์ แก้วนาม หน.อุทยานฯ นายมานะ นวลหวาน ผอ.เจ้าท่าภูมิภาค สาขากระบี่ นายทศพร โชติช่วง ผอ.ทสจ.กระบี่ นายทิดฐพงษ์ พรมภักดี วิศวกรจาก บ.ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จก. ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่เสียหาย น.ส.ศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.กระบี่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยตัวแทนของ บ.ไฮ-พลัสฯ ให้ข้อมูลกับคณะ กมธ.ที่ดินฯ ว่า การก่อสร้างท่าเทียบเรืออ่าวโล๊ะซามะ เกิดปัญหาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามสัญญาของกรมอุทยานฯ เนื่องจากก่อนนี้กรมอุทยานฯ ทำแบบแปลนก่อสร้างท่าเทียบเรือ มีสะพานยื่นออกมารับกับโป๊ะจอดเรือลอยน้ำ แต่แบบแปลนแรกที่นำมาเปิดประมูลให้บริษัทฯ เข้าดำเนินการ เกิดปัญหาจากความผิดพลาดภายในกรมอุทยานฯ จึงต้องยกเลิก และทำการออกแบบแปลนใหม่ และเปิดให้มีการประมูลหาผู้รับเหมารายใหม่เข้าไปดำเนินการ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากการทำสัญญาก่อสร้างฉบับแรก เพราะมีการเตรียมอุปกรณ์ไว้แล้ว และมีการตรวจรับอุปกรณ์ตามระเบียบ แต่บริษัทกลับไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ จึงนำเรื่องนี้ไปร้องต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากกรมอุทยานฯ นอกจากนี้ในแบบแปลนของกรมอุทยานฯ ที่ออกมาแบบที่ 2 ไม่สามารถติดตั้งเข้ากับโป๊ะจอดเรือแบบลอยน้ำได้ จนต้องปรับแก้รูปแบบท่าเรือใหม่ ซึ่งทาง กมธ.มองว่า รูปแบบที่ก่อสร้างใหม่ อาจไม่มั่นคงปลอดภัยเพียงพอหากมี นทท.เข้ามาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในการปรับแบบแปลนใหม่ ทางกรมอุทยานฯ ไม่ได้ยื่นขอแก้แบบแปลนไปยังกรมเจ้าท่า มีเพียงการยื่นขออนุญาตไปครั้งแรกในรูปแบบเก่าเท่านั้น จึงอาจผิดระเบียบของกรมเจ้าท่าได้ ทาง ผอ.เจ้าท่า สาขากระบี่ จึงเสนอให้ทางอุทยานฯ ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องก่อน
ต่อมา กมธ.ทั้งคณะ เดินทางไปยังอ่าวมาหยา เกาะพีพีเล เพื่อตรวจพื้นที่จริงตามข้อร้องเรียน ก็พบว่าเส้นทางเดินบนอ่าวมาหยา มีการก่อสร้างเสร็จสิ้นหมดแล้ว เหลือเพียงส่วนของท่าเทียบเรืออ่าวโล๊ะซามะ ที่ยังเร่งก่อสร้างแก้แบบกัน โดยคนงานก่อสร้างจากบริษัทเอกชนรายใหม่ ต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างกันตลอดทั้งวันทั้งคืน เพื่อเร่งให้เสร็จทันก่อนกำหนดเปิดอ่าวในวันที่ 1 ม.ค.ที่จะถึงนี้
นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวภายหลังลงดูพื้นที่ว่า ปัญหาเรื่องท่าเทียบเรืออ่าวมาหยา เกิดปัญหาจากการร้องเรียนของผู้รับเหมารายแรกที่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามสัญญา เพราะมีปัญหามาจากแบบแปลนการก่อสร้าง ทำให้ทางผู้รับเหมาต้องไปร้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหาย ต่อมาก็มีการนำเอาบริษัทรับเหมาอีกรายเข้ามาดำเนินการต่อ ซึ่งรายที่ 2 จะเข้ามาถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องรูปแบบของท่าเทียบเรือ ที่ทางวิศวกรก่อสร้าง มองว่ามีความไม่มั่นคงปลอดภัยเพียงพอ จึงต้องปรับแก้กันอยู่ในตอนนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะความปลอดภัยของ นทท.ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง หากเร่งรีบเปิดอ่าวมาหยา ทั้งที่ความพร้อมยังไม่มี จะเกิดผลเสียตามมาในภายหลังได้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย รวมถึงการขออนุญาตก่อสร้างจากกรมเจ้าท่า ก็เพิ่งทราบว่ามีการยื่นขอไปเพียงครั้งแรกครั้งเดียว กรมอุทยานฯ ก็มีการเซ็นรับงานกันไปแล้ว แต่เกิดปัญหาต้องมาแก้ไขรูปแบบจึงยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตกรมเจ้าท่าไปใหม่ แต่หลังจาก รมว.ทส. มาที่กระบี่ ก็มาให้นโยบายว่าต้องเปิดอ่าวมาหยาให้ได้ในวันที่ 1 ม.ค.65 ทำให้หน่วยงานในพื้นที่ ต้องเร่งดำเนินการจนอาจจะผิดกฎหมายได้
นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมา ทาง กมธ.จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมใหญ่ เพื่อดูมติว่าอาจจะต้องเสนอกรมอุทยานฯ ให้เลื่อนการเปิดอ่าวมาหยา ออกไปก่อน เพราะยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ทุกอย่างต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน แต่หากยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ หากจะต้องขยายเวลาปิดอ่าวมาหยา ออกไปอีก หรือหากแก้ไขแบบไม่ได้ถึงขนาดต้องทุบท่าเรือทิ้งไป ก็ต้องดูความเห็นจากวิศวกรอีกครั้ง ซึ่งการจะต้องเลื่อนการเปิด หรือขยายเวลาปิดอ่าวมาหยา ออกไปอีก เชื่อว่าภาคเอกชนน่าจะเข้าใจ เพราะต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: