X

กระบี่-คลิปหาดูยาก พะยูน 3 ตัวแหวกว่ายหยอกล้อกินหญ้าที่เกาะศรีบอยา กระบี่ (ชมคลิป)

กระบี่-ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน เผยคลิปพะยูนวัยรุ่น จำนวน 3 ตัว อายุประมาณ 15-20 ปี หากินบริเวณ เกาะศรีบอยา แหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ของจังหวัดกระบี่ เผยใน จ.กระบี่ มีประชากรพะยูนอาศัยประมาณ 20 ตัว วอนชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์

วันที่ 7 ส.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้การแชร์คลิปวีดีโอความยาว 1.36 นาที บันทึกภาพ จากมุมสูง ฝูงพะยูน จำนวน 3 ตัวขณะกำลังเวียนว่ายหากินไปมาในทะเล อย่างมีความสุข ภายหลัง ผู้ใช้เฟซบุค “Kongkiat Kittiwatanawong” ได้โพสต์คลิปดังกล่าว พร้อมข้อความ “กระบี่ น้ำใส ไหลเย็น เห็นพะยูน The three dugongs” ได้มีชาวโลกออนไลน์ ได้เข้ามาแสดงความชื่นชมและแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก และแสดงความชื่นชมใน ความน่ารักของพะยูน และเป็นการบ่งชี้ถึงความอุดสมบูรณ์ของท้องทะเล ภายหลังจากที่ไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยว ในระหว่างที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ตลอด3-4 เดือนที่ผ่านมา

จากการสอบถาม ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ดังกล่าว ทราบว่า คลิปวีดีโอดังกล่าว ถ่ายไว้เมื่อช่วง เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน สำรวจประชากรพะยูน ระหว่าง เกาะปูและเกาะจำ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งเป็นจุดที่มีแหล่งหญ้าทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์

ดร.ก้องเกียรติ เปิดเผยอีกว่าพะยูนทั้ง 3 ตัวที่มีการสำรวจพบเป็นพะยูนวัยรุ่น อายุระหว่าง 15-20 ปี กำลังเวียนว่ายหากินแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นวิถีชีวิตปกติของพะยูน โดยในจังหวัดกระบี่ มีประชากรพะยูนทั้งหมด ประมาณ 20 ตัว แต่จะกระจายหากิน ในรัศมี 5-6 กิโลเมตร ตามเกาะปู เกาะจำ เกาะศรีบอยา ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของทางภาคใต้

อย่างไรก็ตาม พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายากใกล้สุญพันธุ์ จึงขอฝากไปยังชาวประมง และนักท่องเที่ยวช่วยกันอนุรักษ์ ซึ่งที่ผ่านมาพะยูนติดเครื่องมือประมงบ่อยครั้ง เช่นอวนประมง จึงขอให้ชาวประมงพยายามช่วยชีวิต และปล่อยคืนธรรมชาติ และแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ส่วนการเสียชีวิตของพะยูนในช่วงที่ผ่านมา ก็มีหลายสาเหตุ เช่น การป่วยตามธรรมชาติ จากพฤติกรรมของพะยูนที่เมื่อตัวเมียมีลูกตัวผู้ก็จะคอยไล่ทำร้าย จึงอาจทำให้ลูกพะยูนหลงฝูงและลอยมาเกยตื้น และส่วนหนึ่งก็เกิดจากถูกเครื่องมือประมง การกินขยะมีพิษที่ทิ้งในทะเล เพราะจากการผ่านชันสูตรซากพะยูนที่ตายส่วนหนึ่งพบว่า มีการกินพลาสติกเข้าไปด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน