X

การบริหารจัดการเงินในระบบสหกรณ์

การบริหารจัดการเงินในระบบสหกรณ์

เงินล้นสหกรณ์หรือสหกรณ์มีสภาพคล่องมากเกินไปหมายถึงสหกรณ์มีเงินเหลือหรือเกินจากการใช้หมุนเวียนในธุรกิจของสหกรณ์ สภาพคล่องมากหรือน้อยเกินไปย่อมมีผลกระทบต่อองค์กรสภาพคล่องของสหกรณ์นั้นเป็นผลมาจากแนวคิดหรือนโยบายของผู้บริหารสหกรณ์คือคณะกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์   ซึ่งอาจ แยกได้ ๒ แนวคิด ได้แก่ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบสหกรณ์แท้และแนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบ มุ่งแสวงหากำไร

๑.     แนวคิดการบริหารจัดการแบบสหกรณ์แท้

การบริหารจัดการธุรกิจแบบสหกรณ์แท้เป็นการดำเนินธุรกิจตามอุดมการณ์ วิธีการสหกรณ์จะยึดแนวทางการมีส่วนร่วมของสมาชิก (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ) เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่มุ่งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สหกรณ์จะทำธุรกิจกับสมาชิกเป็นหลักทุนเรือนหุ้นและเงินรับฝาก มีวัตถุประสงค์    เพื่อนำมาเป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจของสหกรณ์ไม่มุ่งนำเงินไปแสวงหากำไรจากองค์กรธุรกิจอื่น เพื่อหวังดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนมาแบ่งปันกัน สหกรณ์ไม่ละเลยหลักการดำเนินธุรกิจที่ดี คือ ไม่แสวงหากำไรแต่ต้องไม่ขาดทุน การมีส่วนร่วมของสมาชิกต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจโดยเฉพาะการร่วมใจที่ต้องมีใจ” ซื่อสัตย์เสียสละ สามัคคี  มีวินัย”เพื่อหมู่คณะ สหกรณ์ให้ความสำคัญในการรวมคนมากกว่ารวมเงินสมาชิกมีสิทธิเท่าเทียมกัน“หนึ่งคนหนึ่งเสียง (one man one vote)” อุดมการณ์สหกรณ์ “ช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” จึงถือว่าทุนเรือนหุ้นไม่มีต้นทุนเงินปันผลตามหุ้นถือเป็นเสมือนหนึ่งสินน้ำใจหรือค่าเสียโอกาสและจะจ่ายปันผลเมื่อมีกำไรในอัตราจำกัด ไม่ควรเกินอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์เช่นเดียวกับดอกเบี้ยเงินรับฝากจะให้ค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์

สหกรณ์ทำธุรกิจกับสมาชิกเป็นหลักลักษณะธุรกิจของสหกรณ์ คือซื้อหรือจัดหาสินค้าจากแหล่งภายนอก  มาจำหน่ายให้สมาชิกและรวบรวมหรือซื้อสินค้าหรือผลิตผลจากสมาชิกมาจัดการขายให้ได้ราคาดีมีความเป็นธรรม คือเที่ยงตรงด้านชั่งตวงวัด ราคาเป็นไปตามคุณภาพสินค้า และอาศัยหลักการรวมกันปริมาณมากเพื่อมีอำนาจต่อรองหรือค่าคอมมิชชั่น ประหยัดหรือลดต้นทุนซื้อขายสินค้า ประหยัดการขนส่งเป็นต้นการซื้อสินค้าจากแหล่งภายนอกไปขายให้บุคคลภายนอกไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ วิธีการสหกรณ์

การลงทุนของสหกรณ์นั้นทำได้ ๒ แบบคือ ๑. สหกรณ์สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงหรือลงทุน ในลักษณะของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๖๒ (๓) (๔) และ (๕) คือซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่นและ ๒. สหกรณ์สามารถลงทุนได้โดยได้รับอนุญาตจาก  นายทะเบียนสหกรณ์หรือตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนดตามพระราชบัญญัติสหกรณ์   พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๒ (๖) และ (๗)

การบริหารจัดการสภาพคล่องของสหกรณ์แท้จะเป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply)ของสหกรณ์ คือต้องการเงินเพียงพอเพื่อใช้หมุนเวียนดำเนินธุรกิจเท่านั้น โดยใช้กลไกการปรับเพิ่มลดอัตราดอกเบี้ย    เงินรับฝากอัตราเงินปันผลตามหุ้นและเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจหรืออาจจะชะลอการถือหุ้นเพิ่มงดรับฝากเงิน เพื่อเป็นการลด “ปริมาณเงิน”หรือเพิ่ม-ลด “การไหล” ของเงินเข้าออกสหกรณ์ให้มีปริมาณเงินเพียงพอ หรือมีสภาพคล่องที่เหมาะสม

ดังนั้นเงินจะล้นสหกรณ์จึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยแต่อาจจะเกิดเงินล้นสหกรณ์ได้ในกรณีสหกรณ์ตั้งมานานอาจจะมีทุนเรือนหุ้น เงินสำรอง เงินสะสมตามระเบียบข้อบังคับสหกรณ์มากเกินกว่าจะใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจของสหกรณ์

 

 

 

๒.    แนวคิดการบริหารจัดการแบบมุ่งแสวงหาผลกำไร

แนวคิดการบริหารจัดการสหกรณ์แบบมุ่งแสวงหากำไรเป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ที่อาจจะมาจากประเพณีที่สมาชิกต้องการอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินปันผลสูงกว่าธนาคารและควรสูงขึ้นทุกปีหรือ อาจจะมาจากสมาชิกบางส่วนมุ่งแสวงหาผลประโยชน์โดยนำเงินไปฝากสหกรณ์หรือถือหุ้นในสหกรณ์เพราะได้ดอกเบี้ยหรืออัตราเงินปันผลที่สูงกว่าหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์หรืออาจจะเป็นแนวคิดหรือนโยบายของผู้บริหารสหกรณ์ที่ต้องการให้เงินล้นสหกรณ์เพื่อนำเงินไปฝากหรือลงทุนในองค์กรอื่นเพื่อแสวงหาผลตอบแทน   หรือผลประโยชน์อื่นใด

ด้วยหลายปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ผู้บริหารสหกรณ์ “จำเป็นต้อง” บริหารจัดการการเงินให้เกิดเงินล้นสหกรณ์หรืออาจกล่าวได้ว่า สมาชิกต้องการอย่างไรก็เลือกผู้บริหารที่มีแนวคิดหรือมีนโยบายตามประสงค์ของสมาชิกเข้ามาบริหารสหกรณ์ จึงเป็นที่มาของการเกิดสหกรณ์เทียมเพราะเป็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจ  ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ วิธีการสหกรณ์แต่ทั้งสหกรณ์แท้สหกรณ์เทียมก็เป็นสหกรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย

สหกรณ์ที่มีการบริหารจัดการแบบมุ่งแสวงหากำไรต้องรับภาระความเสี่ยงแทนสมาชิกทั้งหมดอย่างกรณีสหกรณ์นำเงินไปฝากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด หรือ ลงทุนบริษัทการบินไทย สหกรณ์ต้องรับความเสี่ยงว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ ได้ครบตามจำนวนหรือไม่ ถ้าได้คืนจะได้เมื่อไร แต่สหกรณ์เหล่านี้ต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามระบบบัญชีส่งผลให้ต้องลดการจ่ายเงินปันผลเงินเฉลี่ยคืนและการจัดสรรเป็นทุนสวัสดิการ ทุนสาธารณะประโยชน์ส่วนสมาชิกที่กู้เงินจากสหกรณ์ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่อาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากสหกรณ์เพิ่มขึ้นในกรณีที่สหกรณ์ต้องการรักษาระดับกำไรให้เท่ากับหรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสหกรณ์และเชื่อมั่นในผู้บริหารสหกรณ์หรือหลายๆเหตุผลขึ้นอยู่กับแนวคิดของผู้บริหารแต่ละสหกรณ์

สหกรณ์ที่มีสมาชิกสมทบน่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์  อุดมการณ์สหกรณ์แต่เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนข้อบังคับสหกรณ์ให้มีสมาชิกสมทบได้ การรับสมาชิกสมทบต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ควรให้เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในสหกรณ์ อาทิต้องการฝากเงินหรือถือหุ้นกับสหกรณ์เพราะอัตราดอกเบี้ยหรือเงินปันผลสูงกว่าธนาคาร เป็นต้น

การป้องกันบุคคลภายนอกมาแสวงหาผลประโยชน์ในสหกรณ์โดยฝากเงินในนามสมาชิกข้อเท็จจริง ฝ่ายจัดการจะรู้จักสมาชิกสหกรณ์และวินิจฉัยได้ว่าสมาชิกรายไหนน่าจะมีรายได้ประมาณไหน ควรจะมีเงินฝากได้ประมาณเท่าไรอีกอย่างการรับฝากเงินจำนวนมากๆ ต้องรายงานตามกฎหมายฟอกเงินที่ต้องระบุแหล่งที่มาของเงินด้วย การร่วมใจ “ซื่อสัตย์” ตามวิธีการสหกรณ์จึง เป็นปัจจัยสำคัญของสมาชิก “อย่าชักศึกเข้าบ้าน”

โดยสรุปกระบวนการบริหารจัดการ คือตั้งแต่วางแผนนำแผนสู่การปฏิบัติและติดตามประเมินผลผู้บริหารจะบริหารเงินและการไหลของเงินตลอดเวลาและอาจใช้กลไกอัตราดอกเบี้ยอัตราเงินปันผลตามหุ้นเงินเฉลี่ยคืนการจัดสรรกำไรเป็นทุนต่างๆ หรืออาจลดเพิ่มการรับฝากเงินหรือถือหุ้นเพิ่มเพื่อปรับสภาพคล่องให้เหมาะสมได้ดังนั้น แนวคิดหรือนโยบายผู้บริหารสหกรณ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารสภาพคล่อง แต่ถ้ามีเงินล้นไม่ว่ากรณีใดก็ตามการจะนำเงินสหกรณ์ไปฝากหรือลงทุนในองค์กรธุรกิจใดควรยึดหลักเกณฑ์ดังนี้

๑.หลักกระจายความเสี่ยง คือ นำเงินไปฝากหรือลงทุนในหลายองค์กรตามลำดับความมั่นคงในข้อ 2

๒.หลักความมั่นคงต้องวิเคราะห์ฐานะทางการเงินผลประกอบการเพื่อจัดลำดับความมั่นคงเพื่อดำเนินการตามข้อ 1 อาจจะตั้งอนุกรรมการหรือจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้ด้านความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาช่วยวิเคราะห์

๓.หลักความรับผิดชอบผู้บริหารสหกรณ์รวมทั้งผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์อาจจะต้องรับผิดชอบทางแพ่งถ้านำเงินไปฝากหรือลงทุนแล้วเกิดความเสียจึงต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาด้วยความรอบคอบจากข้อมูลว่าน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้มากน้อยเพียงใด ใช้ตรรกะมากกว่าความโลภระมัดระวังเสมือนหนึ่งเป็นเงินของตนเอง

 

เรียบเรียงโดย : นายวรรณศักดิ์  ไม้จัตุรัส

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน