X

กระบี่-โค่นยาง หันมาทำเกษตรผสมผสาน ชีวิตเปลี่ยนมีกินเงินเหลือเก็บ (ชมคลิป)

กระบี่-โค่นยาง หันมาทำเกษตรผสมผสาน ชีวิตเปลี่ยน เป็นข้าราชการก็ไม่เป็นอุปสรรค มีกินเงินเหลือเก็บ

 

วันที่ 7 มิ.ย.63 ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก นี่คือแนวคิดของนายวันชัย สุภาพ อายุ 48 ปี ข้าราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการชำนาญงานสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ ที่ได้ยึดหลักการทำเกษตรแบบพอเพียง โดยได้มีการปรับเปลี่ยนสวนยางพารา เนื้อที่ 3 ไร่ มาทำเป็นสวนเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านมา 1 ปี มีทุกอย่างที่อยากกิน เหลือแบ่งขาย นำรายได้กลับมาจุนเจือครอบครัว จนวันนี้ทำให้ชีวิตและครอบครัว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายวันชัย เล่าว่า เมื่อปี 2561 มีสวนยางพารา อยู่ประมาณ 3 ไร่ ตั้งอยู่บ้านคลองทับหัวกา ม.5 ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ ด้วยภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำจึงคิดที่จะโค่นยางทิ้ง โดยได้ปรึกษากับครอบครัว ว่าหลังจากโค่นยางแล้วก็จะทำเกษตรผสมผสาน ต้นทุนการปลูกน้อย ผลผลิตเติบโตเร็ว เป็นที่ต้องการของตลาด และที่สำคัญสามารถนำมาบริโภคได้ในครัวเรือน แต่สุดท้ายความคิดลงตัว และลงมือทำจนชีวิตดีขึ้น

นายวันชัย กล่าวว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ สวนเกษตรผสมผสานของตน กำลังให้ผลผลิตของกล้วยน้ำหว้า มะละกอ ตะไคร้ ถั่วพลู แตงกวา ชะอม มันสำปะหลัง มะนาว ข้าวโพด ขมิ้น ข่า และพืชผักอื่นๆซึ่งเป็นพืชผักที่สามารถนำมาบริโภคได้ในครัวเรือนและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะถั่วพลูกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ในทุกวันจะมีพ่อค้า แม่ค้ามารับซื้อถึงหน้าบ้าน ราคากิโลกรัมละ 40 บาท และบางช่วงจะมีราคาสูงถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยแม่ค้าจะซื้อไปทำผักเหนาะ และเมนูเด็ดยำถั่วพลู รายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

นายวันชัย กล่าวอีกว่า โดยในสวนเกษตรผสมผสานจะมีผลผลิตจากพืชที่ปลูกมากกว่า 10 ชนิด หมุนเวียนกันออกผลผลิตในแต่ละรอบแตกต่างกัน ทำให้มีผลผลิตในสวนนำมาปรุงอาหารทุกวัน ไม่ต้องซื้อที่เหลือก็เก็บขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อถึงบ้าน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ก็ตัดสินใจอยู่นาน เนื่องจากอาชีพสวนยางพาราเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว ขณะเดียวกันตนกับภรรยาก็รับราชการอยู่ด้วยเกรงว่าจะไม่มีเวลาทำสวน

จึงเริ่มวางแผนทำการบ้านตั้งแต่ก่อนโค่นยาง โดยเห็นโมเดล โครงการพัฒนาที่ดินของสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ เนื้อที่ 200 ไร่ ในพื้นที่ ต.ปลายพระยา โดยแนวคิดของ ผอ.ประสิทธิ์ แสงภักดี จัดสรรพื้นที่ของรัฐให้ชาวบ้านที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน คนละ 2 ไร่ ทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชการที่ 9 ลองกลับมาลงมือทำ

วันจันทร์-วันศุกร์ ซึ่งเป็นเวลาราชการ ใช้เวลาก่อนและหลังเลิกงาน วันเสาร์-อาทิตย์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับสวน เป็นความโชคดี ที่สวน กับบ้านอยู่ติดกัน ส่วนที่ทำงานก็อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 2 กม.ใช้เวลาเดินทางไปทำงานไม่ถึง 10 นาที จึงมีเวลาดูแลสวน และทำงานโดยไม่เบียดบังเวลาราชการ

วันนี้มียอมรับว่ามีความสุขกับการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานมาก และที่สำคัญมีเวลาอยู่กับครอบครัว โดยพืชผักทุกอย่างที่ปลูกในสวนปลอดภัยจากสารเคมี เนื่องจากปลูกเพื่อบริโภคเอง ทำให้ขายดีทุกวัน รายได้เป็นเงินเก็บให้ครอบครัว ส่วนเงินเดือนประจำจากการรับราชการทั้งของตนและของภรรยา ก็นำไปใช้ที่จำเป็น และเป็นความโชคดีของตนอีกอย่างก็คือได้ทำงานรับราชการในสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการเกษตรให้ศึกษาได้อย่างไม่รู้จบสิ้น

นายวันชัย ได้กล่าวด้วยว่า ในช่วงของการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด 19 ร้านค้าห้างร้านต่างๆปิดหมด ครอบครัวของตนไม่เดือดร้อน มีผัก มีผลไม้กินทุกวัน และยังแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้อีกด้วย

ด้าน นายประสิทธิ์ แสงภักดี ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ กล่าวว่า การทำเกษตร ผสมผสาน ตามศาสตร์ของพระราชาหลักเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรสวนผสมผสานในการเลี้ยงชีพ สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว เหมือนอย่างครอบครัวของนายวันชัย สามารถเป็นแบบอย่างให้กับข้าราชการและคนอื่นๆได้ หากไม่ขี้เกียจ ไม่มีจน ไม่อดตาย แน่นอน

ในบางครั้งการทำงานเกษตรไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมาย ก็สามารถนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ได้ โดยนำมาวางรูปแบบการทำเกษตรผสมผสานในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ซึ่งทางหน่วยงายภาครัฐในกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ยินดีที่จะสนับสนุน สำหรับสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ ก็มีโมเดลการจัดรูปแบบที่ดินการทำเกษตรผสมผสาน เนื้อ 200 ไร่ แบ่งให้ครอบครัวละ 2 ไร่ ในพื้นที่ อ.ปลายพระยา พบว่าชาบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต มีรายได้ครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 300-500 บาทต่อวัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน