X

เกษตรกรป่าละอู สุดช้ำ!!สวนทุเรียนถูกช้างป่าบุกหนัก รัฐไม่เหลียวแล

 

เกษตรกรชาวสวนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน อยู่ในโครงการพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอูและหนองพลับ  เดือดร้อนหนักทุเรียนพันธุ์หมอนทองป่าละอูที่ปลูกมากว่าสิบปี  กำลังจะเก็บเกี่ยวนำรายได้ไปใช้หนี้สิน แต่มาถูกช้างป่าบุกเข้ามากินลูกทุเรียน และล้มต้นทุเรียนเสียหายเกือบทุกคืนสูญรายได้นับแสน  แต่ไร้การเหลียวแลจากภาครัฐวอนรัฐบาลเร่งรัดแก้ปัญหา

 

วันที่ 21 สิงหาคม  2562 ที่ผ่านมา นายสง่า หลวงปราบ อายุ 71 ปี  ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวน รุ่นแรกได้รับการจัดสรรที่ดิน 23 ไร่ ทำกินอยู่ในโครงการพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอูและหนองพลับ หมู่ 2 บ้านฟ้าประทาน ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูสภาพความเสียหายของต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองป่าละอู อายุกว่า 10 ปี ที่ปลูกไว้ในสวน ถูกช้างป่าบุกเข้ามา ทั้งใช้งวงดึงลูกทุเรียนที่กำลังใกล้เก็บเกี่ยวได้ลงมากินหลายสิบลูก และช้างป่ายังมีพฤติกรมเกเร ล้มต้นทุเรียนจนหักโค่นจนรากลอยขึ้นมาลงมานับสิบต้น มีเพียง 2 ต้นที่ล้มลงไปยังไม่หัก รากแก้วยังไม่ขาด ยังพอมีความหวังได้จ้างรถแบคโฮมาขุดหลุมเอาต้นลงดินใหม่อีกครั้ง และใช้ไม้ไผ่ค้ำยันรอบต้น เพราะเชื่อว่าถ้าโชคดีต้นทุเรียนทั้ง 2 ต้นอาจฟื้นขึ้นมาใหม่

จากการสำรวจสภาพความเสียหายรอบๆสวนทุเรียนที่ปลูกผสมผสานกับต้นปาล์ม พบว่ามีต้นทุเรียนอายุเฉลี่ยกว่า 10 ปี ที่กำลังออกลูก เตรียมที่เก็บผลผลิตได้ในอีก2 สัปดาห์ ล้มอยู่กระจัดกระจายกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งทุเรียนต้นใหญ่ที่ปลูกไว้หลังบ้าน ก็ถูกช้างป่าใช้งวงดึงกิ่งลงมาจนกิ่งทับหลังคาโรงเก็บน้ำหมักชีวภาพ นอกจากนี้รอบต้นทุเรียนที่ถูกโค่นต้นลงมา พบซากลูกทุเรียนเกลื่อนกลาด  โดยที่บริเวณท้ายสวน ซึ่งเป็นร่องน้ำ และเป็นพื้นที่ซึ่งมีการก่อสร้างรั้วกันช้างยังไม่เสร็จ  จึงเป็นจุดที่ช้างป่าใช้เป็นช่องทางในการเดินข้ามร่องน้ำเข้ามา ซึ่งมีมีร่องรอยเท้าช้างหลายจุด

ลุงสง่า หลวงปราบ  เล่าว่าตนเองเป็นเกษตรกรรุ่งแรก ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวน 23 ไร่ เมื่อปี พ.ศ.2521 และอาศัยกินปลูกพืชการเกษตรหลายชนิดอยู่ในโครงการพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอูและหนองพลับ ประสบปัญหาช้างป่าเข้ามาบุกสวนทุเรียนตลอดเรื่อยมา แต่ก็คอยไล่ จุดประทัดยักษ์ หรือ ลูกโป้งให้ช้างตกใจ ออกไป

ที่ผ่านมาช้างป่าที่เข้ามาจะใช้งวงดึงลูกทุเรียนลงมากินไต้ต้น ครั้งละ 30-40 ลูก เท่านั้น แต่ปีนี้ช้างป่าเข้ามารบกวนหนักกว่าทุกปีจนท้อใจ เข้ามาเกือบทุกคืน แถมยังมีพฤติกรรมเกเร เพราะเป็นช้างรุ่น กินทั้งลูกทุเรียนและล้มต้นทุเรียน ทั้งต้นใหญ่ ต้นเล็ก

ลุงสง่า กล่าวอีกว่าได้ติดหวอสัญญาณเตือนไว้รอบสวน คอยเฝ้าระวังทั้งคืน แต่ด้วยความที่อายุมากแล้ว ทำให้บางครั้งเฝ้าไร่ทุกคืนนอนน้อยเผลอหลับ หรือไล่ไม่ทัน ช้างป่าก็แอบเข้ามากัดกินทำลายต้นทุเรียน  ล่าสุดเห็นต้นทุเรียนที่กำลังออกลูกล้มลงหลายต้น ก็รู้สึกท้อใจ หมดกำลังใจ จนล่าสุดได้ประกาศขายสวนทุเรียน เพราะความหวังที่จะเก็บทุเรียนขายในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อนำเงินมาใช้หนี้เป็นอันจบสิ้นลง แถมยังไร้การเหลียวแล แก้ปัญหาจากภาครัฐ

ปีนี้ทุเรียนออกลูกหลายต้น เพราะทุเรียนหนึ่งต้นจะให้ผลผลิตสร้างรายได้เฉลี่ยต้นละ 3-4  หมื่นบาท  ที่ผ่านมาช้างป่าเข้ามากินลูกทุเรียน  ก็สูญเสียรายได้จากการขายลูกทุเรียนไปเกือบ 1 แสนบาท   ปีนี้หนักมากเพราะช้างป่าหักโค่นต้นไป 12 ต้นแล้ว ทำให้ไม่มีความหวังจะได้เงินจากการขายทุเรียนป่าละอูอีก หากต้องปลูกใหม่ทดแทนใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปีขึ้นไป กว่าทุเรียนจะออกลูก ทั้งที่ลุงเฝ้าสวนทุเรียนทุกคืนเพราะต้องคอยไล่ช้าง  พอคืนไหลงีบหลับไป ตื่นมาเห็นสภาพต้นทุเรียนที่ล้มกระจัดกระจายทั่วสวนก็ทุกข์ใจหนักเหมือนเห็นเงินอยู่ตรงหน้าแต่ไม่สามารถคว้ามาได้ รายได้ที่จะนำมาใช้หนี้และใช้จ่ายในครอบครัวเป็นอันหายไป   แล้วจะให้ลุงทำอย่างไรดี

ที่ผ่านมาลุงสง่า กล่าวว่าไม่ได้รับการเหลียวแล จากภาครัฐ ลงมาร่วมแก้ปัญหาระหว่างคนกับช้างอย่างจริงจัง อยากวอนให้รัฐบาล  เร่งรัดลงมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่  รวมทั้งมาตรการเยียวยาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ก็จะต้องสอดคล้องกัน ซึ่งที่ผ่านมาชาวสวนทุเรียนได้รับการเยียวยาจากกรณีช้างป่าบุกสวนทุเรียนแค่ต้นทุเรียน และเงินไม่กี่ร้อยบาท ยิ่งกฎหมายใหม่ที่ระบุความเสียหายพืชเกษตรอย่างน้อย 25 ต้น ต่อไร่ ไม่สอดคล้องกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน อยากให้มีการปรับแก้เรื่องนี้โดยด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าเกษตรกรชาวสวนบางราย  ที่ได้รับความเสียหายจากช้างป่า บอกด้วยว่าไม่อยากจะไปแจ้งให้หน่วยงานได้รับทราบถึงความเสียหายแล้ว เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร  ทุกวันนี้มีทั้งช้างที่ชื่อ บุญช่วย บุญมี เดินตามถนนเข้ามาในหมู่บ้าน แถมยังมีช้างรุ่นๆที่แตกโขลงเข้ามาหากินตามพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน วันนี้พอพูดถึงปัญหาช้างป่า ก็จะได้คำตอบกันว่าก็เดิมเป็นที่อยู่ของช้างป่า จึงฝากให้หน่วยงานไปดูและทำความเข้าใจอย่างถูกต้องด้วยว่าที่ดินในหมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ อยู่โครงการพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอูและหนองพลับ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน