X

ภาคีเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ  จัดงาน” ”บอกรัก(ษ์)ทะเลปราณ”

 

กลุ่มภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6 องค์กรในพื้นที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมตัวจัดกิจกรรม”บอกรัก(ษ์)ทะเลปราณทั้งการเก็บขยะชายหาดปากน้ำปราณ ปลูกต้นจิกและสารภีทะเล รวมทั้งปล่อยหอยหวาน และพันธุ์ปูม้ากว่า 3 ล้านตัวลงสู่ท้องทะเลปากน้ำปราณ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ชายฝั่งพัฒนาศักยภาพของแหล่งประมงให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งและเป็นไปอย่างยั่งยืนอันจะนำมาซึ่งรายได้ ( วิมล ทับคง รายงาน)

(วันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา)  ที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งศาลเสด็จเตี่ย ชายหาดปากน้ำปราณ หมู่ 2 ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์  กลุ่มอนุรักษ์ภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ได้รวมตัวจัดกิจกรรมโครงการ”บอกรัก(ษ์)ทะเลปราณ ขึ้นโดยมีกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ นำโดยนายพิษณุพงษ์ เหล่าลาภผล ประธานกลุ่มคนรักษ์ทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ  ร่วมกับนายเจือ แคใหญ่ กลุ่มเกษตรทำประมงปากน้ำปราณ,นายสมเดช นาคดี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านคลองเก่า, ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอปราณบุรี,เครือข่ายรัก(ษ์)แม่น้ำปราณบุรี, ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี,สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์,สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี  ตลอดจนชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ และชาวบ้านในชุมชนตำบลปากน้ำปราณ พร้อมด้วยนักเรียน นักศึกษาโรงเรียนปากน้ำปราณวิทยา,ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรมเอกวาซอนหัวหิน   นักท่องเที่ยว  เข้าร่วมกิจกรรม

นายพิษณุพงษ์ เหล่าลาภผล ประธานกลุ่มคนรักษ์ทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในวันที่มีทั้งการเสวนา จากวิทยากรด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนจากชุมชน  ดร.กมลทิพย์ คงประเสริฐอมร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.),นายธนู แนบเนียน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับชาติของ กรม ทช. พร้อมด้วย   นายคมสัน หงภัทรคีรี ผจก.ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี, นายเจือ แคใหญ่ ประธานกลุ่มเกษตรทำประมงปากน้ำปราณ  มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำคือท้องทะเล ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับฟังถึงแนวทางการอนุรักษ์ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ดร.กมลทิพย์ คงประเสริฐอมร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กล่าวในเวทีเสวนาว่าวันนี้ได้เห็นตัวแทนภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐซึ่งทำงานในด้านการอนุรักษ์มารวมตัวกันจัดกิจกรรม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากที่ทุกคนหันมาให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดูแลพื้นที่ของตนเอง    โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ และอำเภอหัวหิน รวมทั้งอำเภอปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นระยะเวลา 5 ปี    ด้วยสาเหตุหนึ่งที่ต้องประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองก็เกิดจากการพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์  เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน อีกทั้งมีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่  เพื่อรองรับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของแนวชายหาดที่ถูกกัดเซาะในหลายพื้นที่

ซึ่งประโยชน์ที่จะดีรับในส่วนของการออกประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง  ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังคงความสมบูรณ์ และป้องกันความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อม  จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากการเวทีเสวนาแล้วยังเปิดโอกาสให้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าเรียนรู้เรื่องของวงจรชีวิตของทั้งหอยหวานและปูม้าที่นำมาอนุบาลเอาไว้ภายใน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งศาลเสด็จเตี่ย

พร้อมกันนี้ทุกคนยังได้ร่วมกันเดินเก็บขยะบริเวณชายหาดปากน้ำปราณ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและสำคัญอีกแห่ง     โดยขยะที่เก็บมาได้ทั้งหมดได้นำมารวมไว้และมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยที่พบมากคือขวดน้ำพลาสติกและเศษพลาสติกต่างๆ  รวมไปถึงการร่วมกันปลูกต้นจิกทะเล และต้นสารภีทะเล จำนวน 40 ต้น ลงในพื้นที่โซนอนุรักษ์หาดปากน้ำปราณ

นอกจากนั้นยังมีการนำหอยหวานที่ได้จาการเพาะพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งนำพ่อพันธุ์หอยหวานจากทะเลปากน้ำปราณ ไปดำเนินการเพาะพันธุ์และอนุบาล     และนำลูกหอยหวานที่ได้อายุ 2 เดือน นำกลับมาอนุบาลไว้ในโรงเรือนของศูนย์ศึกษาเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งศาลเสด็จเตี่ย และในวันนี้มีปล่อยคืนสู่ท้องทะเล กว่า 5,000 ตัว   และส่วนหนึ่งยังมีการอนุบาลเอาไว้เพื่อรอเจริญเติบโตก็จะปล่อยลงสู่ทะเลต่อไปเช่นกัน     นอกจากนั้นยังมีการปล่อยลูกปูม้าเพศเมีย   และปล่อยลูกปูม้าที่มีการเขี่ยไข่ออกมาแล้วคืนสู่ท้องทะเลอีก กว่า 3 ล้านตัวอีกด้วย

นายเจือ แคใหญ่ กลุ่มเกษตรทำประมงปากน้ำปราณ,กล่าวว่าการปล่อยทั้งหอยหวาน และ ปูม้านั้นถือว่าเป็นสร้างจิตสำนึกให้กับชาวประมง  แทนการจับขึ้นมาจำหน่ายและบริโภคเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะปัจจุบันทั้งปูม้าและหอยหวานเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค มีราคาสูงดังนั้นทางภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม    ดังนั้นภาคเครือข่ายการอนุรักษ์ จึงต้องร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ชายฝั่งพัฒนาศักยภาพของแหล่งประมงให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งและเป็นไปอย่างยั่งยืนอันจะนำมาซึ่งรายได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน