X

เร่งสำรวจความเสียหาย แปลงฟื้นฟูปะการังเกาะทะลุ เบื้องต้นพบปะการังเขากวางเสียหาย 70 กอ แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 1 ข้อหา

ทช.จัดทีมดำน้ำสำรวจความเสียหาย และประเมินสถานภาพแปลงปลูกเสริมปะการังเกาะทะลุ  ที่ถูกหักยอดออกไป พบปะการังเขากวางเสียหาย 70 กอ และเข้าแจ้งความเพิ่มอีก 1 ข้อหา 

ประจวบคีรีขันธ์-กรณีแปลงปลูกปะการัง ที่เกาะทะลุ ถูกตัด-หักเสียหาย ตามที่กลุ่มอนุรักษ์ฯโพสต์ลงเฟสบุ๊ก และสื่อมวลชนมีการนำเสนอต่อเนื่อง จนเป็นเรื่องที่นักดำน้ำและนักอนุรักษ์ ต่างรู้สึกเสียดายที่ปะการังเป็นสัตว์มีชีวิตแต่กูกทำลาย กว่าจะเจริญเติบโต ต้องใช้ระยะเวลา และเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบว่า”ใครเป็นผู้ลงมือ”

ล่าสุดวันนี้ (4 มีนาคม 2564) นายภัทร อินทรไพโรจน์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) พร้อม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับนางสุมณา ขจรวัฒนากุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  และ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ได้ลงพื้นที่ สำรวจความเสียหาย และประเมินสถานภาพแปลงปลูกเสริมปะการังเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผลการสำรวจพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะทะลุ ในบริเวณแนวปะการังธรรมชาติและพื้นที่ที่มีการปลูกฟื้นฟูปะการัง ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐในหลายปีที่ผ่านมา มีปะการังที่ปลูกไปแล้วเป็นจำนวนมากและมีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นปะการังเขากวางที่มีการเติบโตเชื่อมเข้าหากันแล้วจึงไม่สามารถระบุจำนวนกอได้ พบจำนวนโคโลนี (กอ) ปะการังเขากวางที่มีความเสียหาย จำนวนทั้งสิ้น 70 กอ ลักษณะความเสียหาย แบ่งเป็น มากกว่า 60 % ของโคโลนีจำนวน 15 โคโลนี จำนวนโคโลนีปะการังที่มีความเสียหายประมาณ 20% ของโคโลนีมีจำนวน 15 โคโลนี จำนวนโคโลนีปะการังที่มีความเสียหายประมาณ 10% ของโคโลนี มีจำนวน 40 โคโลนี

ซึ่งในขณะทำการตรวจสอบไม่พบตัวผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด ซึ่งปะการังดังกล่าว จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ประเภทสัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะของปะการังถูกหักออกไป ซึ่งมีความผิดในมาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มีบทกำหนดโทษในมาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 12 หรือมาตรา 29 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 มาตรา 17 ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการกระทำ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นเป็นการชั่วคราวตามความเหมาะสม และตามประกาศคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 445/2559 ประกาศวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2559 เรื่อง มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง ตามข้อที่ 8 ห้ามการเก็บหรือทำลายปะการัง เว้นแต่การกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ บทกำหนดโทษตามมาตรา 27 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกตามมาตรา 17 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งเจ้าหน้าที่จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวน สภ.บางสะพานน้อย เร่งสืบหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน