X

เจ้าหน้าที่ฯลงสำรวจพบปะการังเขากวาง ที่เกาะจานตายเกือบ100เปอร์เซนต์

                นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 ชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  หลงสำรวจบริเวณเกาะจาน และ เกาะท้ายทรีย์ พบปะการังเขากวางตายเกือบ 100 เปอร์เซนต์ เป็นพื้นที่กว้าง ขณะที่ปะการังโขดเริ่มมีสาหร่ายสีเขียวปกคลุม หลังเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลลดต่ำบ่อยขึ้นและมีปะการังโผล่ เบื้องต้นอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ยังงดให้บริการดำน้ำชมปะการังทั้ง 2 เกาะมาถึง 1 เดือนเต็ม

                 วันที่  13  ก.ค.2561 นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี พร้อมด้วย นายพีรวัฒฒิ สิโรตม์พิพัฒ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดวนกร นำเจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 ชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช   ลงเรือยางไปดำน้ำสำรวจสถานภาพแนวปะการังที่บริเวณด้านหน้าเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดวนกร อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                 หลังจากมีการติดตามข้อมูลตารางน้ำขึ้นและน้ำลงของกรมอุทศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งหลังจากเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติน้ำทะเลลงต่ำสุดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาเป็นช่วงๆจนมาถึงปลายเดือน และมาต้นเดือนกรกฏาคม  2561 ที่ผ่านมา พบว่าในปีนี้น้ำทะเลลดลงต่ำมากกว่าทุกปี และเกิดขึ้นเป็นช่วง 1-3 วัน และล่าสุดระหว่างวันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 กรกฏาคม 2561 นี้

                 โดยทุกครั้งที่น้ำลงต่ำสุด  จะเกิดปะการังหลายชนิดโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ  จนทำให้ทางอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ต้องประกาศงดให้บริการพานักท่องเที่ยวดำน้ำในพื้นที่บริเวณเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ มาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2561 จนถึงวันนี้เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง 

                  อย่างไรก็ตามเมื่อลงไปตรวจติดตาม ก็ยังพบว่ามีปะการังโผล่ขึ้นมาและน้ำลดต่ำลง จึงต้องปิดไปจนกว่าสถานการณ์น้ำขึ้นน้ำลงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้อาจเป็นเดือนสิงหาคม  อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาในช่วงสิ้นเดือนนี้มีวันหยุถดติดต่อกันหลายวัน ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวดำน้ำได้ เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจะเกิดปรากฏการณ์น้ำลดลงต่ำสุดอีกช่วงของปีนี้

              ซึ่งในวันนี้  นายภาณุวัฒน์ ดำภูผา เจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ได้ทำการสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณด้านหน้าเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ โดยใช้วิธีการสำรวจแบบ การวางไลน์ และถ่ายรูปเพื่อนำมาเข้าโปรแกรม วิเคราะห์การปกคลุมของปะการังบริเวณจุดที่ทำการสำรวจ ซี่งเมื่อผลสำรวจออกมาจะระบุได้ว่ามีปะการังมีชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ มีปะการังตายกี่เปอร์เซ็นต์ และชนิดของปะการังที่สำรวจ  โดยพบว่าแนวปะการังที่อยู่ห่างจากด้านหน้าเกาะจานออกมาในระยะประมาณ 100-200 เมตร ระดับน้ำประมาณ 1-2 เมตร พบว่าแนวปะการังชนิดต่าง  ปะการังลายดอกไม้ ปะการังโขด ปะการังเขากวาง  รวมทั้งดอกไม้ทะเลยังคงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

              แต่ในส่วนที่อยู่ระหว่างเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ห่างจากตัวหาดประมาณ 50-100 เมตร พบว่าเมื่อน้ำทะเลลดต่ำสุด จะทำให้เห็นแนวปะการังเขากวางและปะการังโขดที่โผล่ขึ้นมา เป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งจากการสำรวจพบว่าปะการังเขากวางส่วนใหญ่ที่โผล่ขึ้นมามีสาหร่ายปกคลุม  และพบอีกว่าส่วนใหญ่ปะการังเขากวางทั้งหมดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์  และอาจตายมาตั้งแต่ช่วงที่มีอุณหภูมิน้ำร้อนตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงปัจจุบันซึ่งเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติน้ำทะเลลงต่ำสุด

                นอกจากนั้นในบริเวณเดียวกันยังพบปะการังโขดอีกเป็นจำนวนมาก ที่เริ่มถูกสาหร่ายสีเขียวขึ้นมาปกคลุม แต่ยังไม่ถึงตายเนื่องจากด้านล่างยังแช่น้ำอยู่  ส่วนสัตว์ทะเลทั้งหอยมือเสือ และปลิงทะเลพบว่าไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

          ในเบื้องต้นหลังกลับไปจะต้องนำภาพที่บันทึกและการวางไลน์สำรวจไปเข้าโปรแกรมวิเคราะห์  เพื่อรายงานให้ทางสำนักที่เกี่ยวข้องของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับทราบ และต่อไปจะต้องมีการติดตามสำรวจแนวปะการังในพื้นที่ดังกล่าวเป็นระยะด้วย ส่วนโอกาสที่จะมีการฟื้นตัวนั้นต้องใช้ระยะเวลา โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังในบริเวณเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ บางส่วนที่มีทั้งตายและฟอกขาวนั้นเกิดจากธรรมชาติ

                    ด้านนายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี กล่าวว่าทางอุทยานแห่งชาติทางทะเลในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีทั้งอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งบริเวณเกาะโครำ มีแนวปะการัง และบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดวนกร มีเกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ ซึ่งมีแนวปะการัง รวมไปถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติอยู่ในระหว่างเตรียมการ นั้นก็มีแนวปะการังเช่นกัน ซึ่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติน้ำทะเลลดต่ำสุด ทุกอุทยานที่ล่าวมามีการรายงานผลและเก็บข้อมูลในช่วงที่น้ำลดลงต่ำและปะการังโผล่ โดยได้รายงานเป็นระยะให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทราบอย่างต่อเนื่อง  ในส่วนของการดำน้ำที่เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ ก็ยังคงงดให้บริการนักท่องเที่ยวต่อไป  เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากมีการปล่อยให้มีการดำน้ำในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ที่น้ำลดลงต่ำและมีปะการังโผล่ ซึ่งทราบว่านักท่องเที่ยวจะโทรศัพท์สอบถามถึงสาเหตุอย่างต่อเนื่องถึงการงดดำน้ำ โดยให้ทางเจ้าหน้าที่พยามอธิบายให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจรวมทั้งบางครั้งก็ต้องส่งภาพบริเวรดังกล่าวให้กับนักท่องเที่ยวได้ดูอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน