X

บุรีรัมย์เปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ครอบครัว “วรธงไชย” สานต่อเจตนารมณ์อาจารย์ศิลปะมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ผู้ล่วงลับ  เปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเครื่องปั้นดินเผา  เครื่องมือดักจับสัตว์ที่คนอีสานใช้ทำมาหินสมัยโบราณ และของสะสมทรงคุณค่าหลายพันชิ้น  เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ประชาชน  นทท.เข้าชมฟรี

(29 พ.ย.60)  หากใครสัญจรผ่านถนนสายบุรีรัมย์ – ลำปลายมาศ  ช่วงระหว่างบ้านตลาดควาย หมู่ 6 ตำบลหนองบัวโคก  อำเภอลำปลายมาศ  จังหวัดบุรีรัมย์  ก็จะสะดุดตากับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และอดที่จะแวะเข้าไปเยี่ยมชมไม่ได้  เพราะทางครอบครัว “วรธงไชย” ได้สานต่อเจตนารมณ์ของ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทำนุ  วรธงไชย”  อาจารย์สอนศิลปะ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 5 ปีก่อน   เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2548  จากนั้นทางครอบครัวก็ได้สานต่อตามคำสั่งเสีย   โดยการเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวอีสานและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   ให้ประชาชน  นักเรียน นักศึกษา  หรือผู้ที่สนใจได้เข้าชมฟรี  โดยภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคกดังกล่าว  มีการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาที่ทำจากฝีมือคนของในครอบครัว  เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านทั้งที่ทำจากไม้รวมถึงวัสดุต่างๆ อุปกรณ์ดักจับสัตว์บก สัตว์น้ำซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวอีสานในสมัยโบราณ   นอกจากนั้นยังมีของสะสมอันทรงคุณค่า เช่น สิ่งประดิษฐ์จากเปลือกหอย  และภาพวาดจากฝีมือของอาจารย์ทำนุ ไว้ให้ประชาชน เยาวชน หรือผู้ที่สนใจได้ชมอีกด้วย  โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่มีสิ่งของที่เก็บรวบรวมสะสมจำนวนหลายพันชิ้น

ทั้งนี้ทางครอบครัวยังได้มีการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่บางส่วนจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้ผู้ที่เข้ามาชมได้นั่งรับประทาน  และเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอีกด้วย   ปัจจุบันก็มีประชาชน นักศึกษา และผู้ที่สัญจรผ่านไปมาแวะชมภายในพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งส่วนมากที่ได้เข้ามาชมก็ประทับใจและถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก  บางคนก็ซื้อเครื่องปั้นดินเผาไปใช้เองและเป็นของฝากด้วย

นายธงธวัช   วรธงไชย  อายุ 30 ปี ลูกชายอาจารย์ทำนุ บอกว่า   พ่อได้เปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว   หลังจากพ่อเสียชีวิตจึงอยากจะสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อ  จึงได้เปิดพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่ชื่นชอบงานด้านศิลปะ เข้ามาชมและศึกษาเรียนรู้ได้ฟรี   โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น  วิถีชีวิต ภูมิปัญญาชาวบ้านในอดีต เสมือนมรดกทางวัฒนธรรม  หากไม่เก็บรักษาไว้ก็จะผุพังสูญหายไปตามกาลเวลา

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน