สงขลา-สะเดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำส่วนราชการและประชาชนชาวอำเภอสะเดา เดินเท้ารณรงค์ป้องกันเชิงรุก โรคไข้เลือดออกระหว่างประเทศ ชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรคและตัดวงจรชีวิตยุงลายไม่ให้มีการแพร่ระบาด ทั้งนี้พบอำเภอสะเดาพบผู้ป่วยสูงสุด
นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
จากสถิติของผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในจังหวัดสงขลา ตามรายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 19 กันยายน 2566 พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,510 ราย และเสียชีวิตแล้ว 5 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคืออายุ 5 – 9 ปี รองลงมาอายุ 10-14 ปี และอายุ 15 – 24 ปี ส่วนอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ อำเภอสะเดา จำนวน 733 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต รองลงมาคือ อำเภอเมืองสงขลา และอำเภอหาดใหญ่
ข่าวน่าสนใจ:
- มรดกที่ดินเป็นเหตุ! พี่เมียซัดลูกซองยาวดับน้องเมียเสียชีวิตคาที่ จ.พัทลุง
- สธ. เปิดเวทีประชุมวิชาการ ปี 67 มุ่งเน้น “นวัตกรรมการจัดการสุขภาพ ยกระดับบริการยุคดิจิทัล”
- สงขลา ฟุตบอล "คิงส์คัพ" ครั้งที่ 5 จัดในจังหวัดสงขลา คาดมีนักท่องเที่ยวนับหมื่นทะลัก
- สำนักข่าว UtusanTv มาเลเซีย เสนอบทความ “หมดหวังที่จะสูญเสียการสนับสนุน ชาวมุสลิมตกเป็นเหยื่อของ BRN ” จริงหรือไม่ !!
ในช่วงเช้าวันนี้ (23 ก.ย. 66) ณ ด่านพรมแดนสะเดาขาออก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ควบคุมโรคไข้เลือดออกระหว่างประเทศ ชายแดนไทย-มาเลเซีย (สงขลา – เคดาห์)
เพื่อร่วมสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ทำให้ปัญหาโรคไข้เลือดออกตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ ได้รับการแก้ไขและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีนายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายบารุนฮีชำ บิน ฮาย สุไรมาน นายอำเภอกูบังปาซู นายสุรินทร์ สุริยะวงศ์ นายอำเภอสะเดา พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้บริหารจากรัฐเคดาห์ ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วม
นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวเน้นย้ำ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนทั้ง 2 ประเทศ ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการกำจัดยุงตัวแก่ในพื้นที่ระบาด และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ที่สำคัญคือทุกคนจะต้องเฝ้าระวังและช่วยค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์ ไม่ซื้อยามารับประทานเอง เพราะไข้เลือดออกหากอาการรุนแรง หรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการเดินเท้ารณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก การสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ รวมถึงการจัดบูธนิทรรศการ Dengue Corner ค้นหาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และจัดทำสื่อสารประชาสัมพันธ์ ภายใต้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค และ 7 ร. คือเก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก, เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่, เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และวัด เช่น ขวด กระป๋องให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ทั้งนี้ในจังหวัดสงขลา พบว่ามีผู้ป่วยซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอสะเดามากที่สุดคือจำนวน 733 ราย โดยที่ไม่มีรายงานการเสียชีวิต โดยแยกผู้ป่วยสะสมเป็นรายตำบล คือ สะเดา 165 ราย ปริก 127 ราย สำนักแต้ว 124 ราย ปาดังเบซาร์ 113 ราย พังลา 44 ราย ท่าโพธิ์ 18 ราย เขามีเกียรติ์ 13 ราย และ ทุ่งหมอ 18 ราย ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโดยรวมมีแนวโน้มลดลง
ด้าน Dr.Mohd Zainal Ameer Ozeman ตัวแทนสาธารณสุขรัฐเคด้า กล่าวว่าที่ประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะรัฐเคดาห์ มีประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้วประมาณ 4,000 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งรัฐบาลประเทศมาเลเซียเอง ก็ประสบปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออกระบาด เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีพรมแดนติดกันและมีสภาพป่าติดกัน จึงได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันกำจัดยุงลาย ร่วมกับประเทศไทยและรณรงค์ให้ ความรู้ จัดบิ๊กคลีนนิ่งกำจัดลูกน้ำยุง ในชุมชนของพื้นที่ในอำเภอต่างๆของรัฐเคดาห์ มาเลเซีย อย่างต่อเนื่อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: