X

เกษตรจังหวัดสุโขทัยจับมือสำนักงานสถิติ เดินหน้าโครงการสำมะโนการเกษตรปี66

สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยร่วมกับสำนักงานสถิติจังหวัดสุโขทัย ดำเนินโครงการสำมะโนการเกษตรประจำปี 2566 โดยอาสาสมัคร อกม. ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูล (พนักงานแจงนับ) ด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน เพื่อให้ได้ข้อมูลนำมาประมวลผลเป็นข้อมูลสถิติ และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ

จังหวัดสุโขทัยมีเป้าหมายการเก็บข้อมูลจังหวัดสุโขทัยตามบ้านเลขที่ตามฐานข้อมูล ทั้งหมด 104,654 ครัวเรือน (ยังไม่รวมจำนวนเกษตรกรนอกเป้าหมาย เช่น ลูกจ้างทางการเกษตร และบุคคลที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร) โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยร่วมกับสำนักงานสถิติจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ได้ดำเนินการจัดการอบรมโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ระดับพนักงานแจงนับ ” มาดีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน” (อกม.) ระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ครบทุกอำเภอแล้ว มีพนักงานแจงนับ เป็นทั้งอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อาสาสมัครเกษตรประเภทอื่นภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือบุคคลอื่นที่มีความสามารถ จำนวน 843 ราย ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจผู้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานแจงนับ ที่จะทำหน้าที่ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลการเกษตรในทุกอำเภอ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2566 โดยดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 11 ตำบล 109 หมู่บ้าน

สำมะโนการเกษตร เป็นการดำเนินการทางสถิติที่เกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตร (ครัวเรือน/สถานประกอบการเกษตร) ทุกราย ทั้งที่อยู่ในระบบทะเบียนเกษตรกรและนอกระบบทะเบียนเกษตรกร โดยดำเนินการในทุกพื้นที่ของประเทศเพื่อนำมาประมวลผลเป็นข้อมูลสถิติและเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งประเทศไทยมีการจัดทําสํามะโนการเกษตรมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2493 ต่อมาใน พ.ศ. 2506, 2521, 2536 และ 2546 เพื่อให้มีข้อมูลสถิติเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร สําหรับใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ และสามารถนําไปใช้ในการกําหนดนโยบายติดตาม และประเมินผลโครงการพัฒนาทางการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่แนะนําให้ทุกประเทศจัดทําสํามะโนการเกษตรทุก 10 ปี

ประโยชน์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเกษตร การพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงประชากรภาคการเกษตรของประเทศ และข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรสามารถใช้เป็นกรอบตัวอย่าง (Sampling Flame) สำหรับการสำรวจด้านการทำเกษตรและเป็นช่องทางในการสะท้อนปัญหาที่สามารถเก็บข้อมูลความต้องการ หรือข้อร้องเรียนของเกษตรกรได้อีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน