X

เปิดแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมล่องเรือชมความงามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไหว้พระทำบุญ ชมโบราณสถาน ศึกษาวิถีชีวิตไทย-มอญ

ปทุมธานี-เปิดแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมล่องเรือชมความงามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไหว้พระทำบุญ ชมโบราณสถาน ศึกษาวิถีชีวิตไทย-มอญ

“ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม” สังเกตจากคำขวัญ จะเห็นว่ามีส่วนที่กล่าวถึงชาวมอญ นั่นก็เพราะในอดีต ย้อนไปเมื่อปี 2202 มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีภัยจากศึกพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก

จากชุมชนขนาดเล็กได้กลายเป็น “เมืองสามโคก” ในเวลาต่อมา เพราะได้มีการพัฒนาและมีผู้อพยพมามาอยู่เพิ่มขึ้น คือในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเมื่อปี 2358 พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก มีพสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงได้พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ประทุมธานี” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนการสะกดนามจังหวัดเป็น “ปทุมธานี”

ดร.พินิจ บุญเลิศ กล่าวว่า “สามโคก” เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี ชุมชนมอญเก่าแก่จะตั้งเรียงรายอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ บนเส้นทางเดินเรือที่จะผ่านไปออกปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในด้านการพัฒนา มีผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ทางจังหวัดปทุมธานีได้เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดงานด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นการสืบประเพณีและวัฒนธรรม

การส่งเสริมผลักดันให้เกิดโครงการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนั้น ถือว่าจังหวัดปทุมธานีเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ปีนี้เรามีหลายๆ โครงการต่อเนื่องกัน นับว่าเป็นโอกาสดี ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นโดยตรง เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จะเห็นว่าเรามีโครงการตลาดวัฒนธรรมวัดศาลเจ้า เรามีตลาดอิงน้ำสามโคก เรามีกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ ศึกษาวัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบไทย-มอญ

สำหรับจังหวัดปทุมธานีของเรานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีชาวไทยเชื้อสายมอญมาตั้งหลักปักฐานกันตั้งแต่ในอดีต เราก็ได้เห็นการสืบทอดประเพณีมาอย่างต่อเนื่อง โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย-มอญ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จุดประกายในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดปทุมธานีต่อไป การจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่จะสร้างความน่าสนใจจนนักท่องเที่ยวอยากเดินทางเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวและศึกษาวัฒนธรรมพื้นถิ่นจำเป็นต้องสร้างความโดดเด่น จากแหล่งท่องเที่ยวที่เรามีอยู่ เช่น การเปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ย่านสามโคก เตาโอ่งอ่าง วัดสิงห์ หรือ วัดศาลาแดงเหนือ ซึ่งเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่

นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้มุ่งเน้นที่จะดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่ง การกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม บ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชนพื้นถิ่นในจังหวัดปทุมธานี และเป็นการรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ประเพณี วิถีชีวิตของท้องถิ่นให้คงอยู่ สนับสนุนให้มีการนำมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านศาลาแดงเหนือ มาสร้างคุณค่าทางสังคม และส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ในจังหวัดปทุมธานี ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เผยแพร่ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิต พิธีกรรม ต่าง ๆ


สำหรับโครงการท่องเที่ยววัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย-มอญนั่นเนื่องจากจังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลาง แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองฝั่ง ในอดีตการคมนาคมทางน้ำจึงเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา อำเภอสามโคก เป็นเมืองที่มีเรื่องราวถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวไทย และชาวมอญ สามโคก ในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วย ตุ่ม โอ่ง และเป็นแหล่งผลิตอิฐมอญที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย

 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของชาวริมน้ำก็ปรับเปลี่ยนไป การใช้เส้นทางน้ำลดความสำคัญลง ในขณะที่ร่องรอยและเรื่องราวทาประวัติศาสตร์ ยังคงมีความน่าสนใจ ที่จะให้คนรุ่นหลังได้สืบค้น หรือศึกษาข้อมูล ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย-มอญ การจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในรูปแบบการท่องเที่ยวทางน้ำ จะใช้ศักยภาพของวัดและชุมชนริมแม่น้ำเป็นจุดขาย โดยมีพื้นที่หลักเป้าหมายจำนวน 10 แห่ง ที่จะตั้งให้เป็นจุดแวะพักชม และมีกิจกรรมที่ชาวบ้าน วัด และชุมชน จะได้ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้สามโคก กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืนสืบไป

ด้านนายไพรัตน์ ลิ่มสกุล นายอำเภอสามโคก ในส่วนของอำเภอสามโคก ได้มีการประชุมทำความเข้าใจและแนะนำถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำท้องถิ่นผู้นำชุมชนในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ในรูปแบบของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีการให้ข้อมูล หรือเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละวัด หรือ ชุมชน ที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่ในอำเภอสามโคก เราจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเป็นหลัก เรามีวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีโบราณสถาน ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม ซึ่งทางอำเภอสามโคกรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว และได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมขึ้นในจังหวัดปทุมธานีของเรา เชื่อและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านมาแล้วจะต้องกลับมาอีกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการไหว้พระขอพร สามโคกเป็นพื้นที่ที่มีพระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธรูปโบราณอยู่หลายวัด

สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือ จะเริ่มให้บริการทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแค่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นไป จนถึงเดือนสิงหาคมนี้มีเรือให้บริการวันละ 2 ลำ ออกเดินทางจากท่าเทียบเรือวัดบางเตยนอก
ให้บริการวันละสองรอบ รอบเช้า เวลา 09.00 น. รอบบ่าย เวลา 13.30 น.
เส้นทางเรือลำที่ 1 ออกจากท่าเรือวัดบางเตยนอก วัดสิงห์ วัดถั่วทอง วัดสองพี่น้อง วัดไผ่ล้อม วัดศาลาแดงเหนือ
เส้นทางเรือลำที่ 2 ออกจากท่าเรือวัดบางเตยนอก วัดจันทน์กะพ้อ วัดสวนมะม่วง วัดเจดีย์ทอง วัดท้ายเกาะใหญ่ วัดโบสถ์สามโคก

ปทุมธานีก็เป็นอีกจังหวัดที่เหมาะจะพาครอบครัวมาพักผ่อนวันหยุดใกล้กรุงเทพฯชวนเที่ยววัดมอญงามตา เดินเล่นตลาดเก่ากินของอร่อย แล้วไปดูนกนานาชนิด ใครไม่อยากเดินทางไกลๆละก็ปทุมธานีก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับวันหยุดพักผ่อน

พงศ์พัทธ์ วงศฺยะลา/ รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี