X

ชูโมเดล ปทุมธานีประตูสู่กรุงเทพฯ พร้อมอนุรักษ์พัฒนาบัวไทย เป็นพืชเศรษฐกิจ

ปทุมธานี – ผู้ว่าราชการจังหวัดชูโมเดลปทุมธานีประตูสู่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า พร้อมอนุรักษ์พัฒนาบัวไทย เป็นพืชเศรษฐกิจ

….”.ถึงสามโคกโศกถวิล ถึงปิ่นเกล้า      พระพุทธเจ้าหลวงบำรุง ซึ่งกรุงศรี

ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี  ชื่อประทุมธานี …เพราะมีบัว ” (นิราศภูเขาทอง – สุนทรภู่)

จังหวัดปทุมธานี เป็นเมืองเก่า มีมาแต่แรกสถาปนาพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ บ้านสามโคก ครั้นต่อมาขยายเป็นชุมชนใหญ่ เพราะมีชาวรามัญที่อพยพหนีภัยมาอยู่มากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงเมตตาต่อครอบครัวชาวรามัญเป็นอย่างมาก เคยเสด็จฯทางชลมารค มาเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุข ชาวรามัญต่างพากันถวายดอกบัวเพื่อแสดงความจงรักภักดี จึงได้พระราชทานนามเมืองใหม่ให้ เพื่อเป็นสิริมงคลว่า “ เมืองประทุมธานี ” มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี

ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดฯให้เปลี่ยนคำว่า “ประทุมธานี” เป็น “ปทุมธานี” พร้อมทั้งเปลี่ยนฐานะจากเมืองเป็นจังหวัด

เมืองสามโคกเป็นเมืองที่อุดมด้วยดอกบัวมาแต่โบราณ จึงมีประเพณีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าพระมหาอุปราชจะเสด็จลงเรือมาเก็บดอกบัวเบญจพรรณนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดินในการพระราชพิธีเทศน์มหาชาติเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยเสด็จฯมาเก็บดอกบัวที่เมืองนี้เช่นกัน และด้วยเหตุนี่เองทำให้จังหวัดปทุมธานีนั้น มีดอกไม้ประจำจังหวัดเป็น “ดอกบัวหลวง”

ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอันมากจากหัวเมืองเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่โดดเด่น สู่เมืองแห่งการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมสะอาดของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีของภูมิภาค (Education and Technology Hub) พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการกระจายตัวของนิคมอุตสาหกรรมและโครงการบ้านจัดสรรขนาดใหญ่

นำไปสู่การพัฒนาถนนหนทาง เกิดย่านอุตสาหกรรมใหม่ในเขตรังสิต มีศูนย์การค้าและสถาบันการศึกษาสำคัญเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย  จังหวัดปทุมธานียังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองตอบวิสัยทัศน์ของเมือง ที่มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านสังคมให้เป็นสังคมคุณภาพ ด้วยความที่ “ปทุมธานี” ตั้งอยู่ชิดติดกับกรุงเทพฯ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกรุงไปเสียแล้ว

การที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะเกิดประโยชน์มากมายมหาศาล ถ้าทุกประเทศจับมือกันแล้วก็เปิดประตูสู่อาเซียน เราต้องเตรียมความพร้อมทันทีตลอดเวลา โดยเฉพาะบุคคลากรต้องตามให้ทัน และยืดหยุ่นปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ให้ได้ถือเป็นเรื่องหลัก

ต่อมาก็เป็นเรื่องของการสื่อสารทางด้านภาษา เมื่อมารวมตัวกันทั้ง 10 ประเทศแล้ว ก็ต้องมีภาษากลางของอาเซียน ซึ่งเขาใช้ภาษาอังกฤษกัน บุคคลากร นักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนอยู่ในระดับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับ ประถม มัธยม อุดมศึกษา ต้องเพิ่มทักษะทางด้าน ภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารให้ได้

ในการเตรียมความพร้อมประเด็นต่อมาก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะภาษาของประเทศอาเซียนด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับต่างชาติที่จะมีมากขึ้น ในอนาคต นอกจากนี้ต้องพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในงานสาขาเฉพาะด้านอย่างมีมาตรฐาน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกในอาเซียน รวมทั้งกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจการ

ดร.พินิจกล่าวต่ออีกว่า จังหวัดปทุมธานี ถือเป็นหัวเมืองเอกทางเศรษฐกิจ เป็นจังหวัดที่รองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร ห่างจากกรุงเทพฯ 27 กิโลเมตร มีพื้นที่ 1,525 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 953,600 ไร่ มีพื้นที่การเกษตร 432,700 ไร่ หรือร้อยละ 45 ของพื้นที่ มีพื้นชลประทาน 683,000 ไร่ หรือร้อยละ 72 ของพื้นที่

จังหวัดปทุมธานี เป็นเมืองศูนย์กลาง ในด้านเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยเป็นฐานอุตสาหกรรมส่งออก และแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 4,000 แห่ง  เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า มีแหล่งซื้อขายและกระจายสินค้าขนาดใหญ่ กว่า 16 แห่ง  เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัย มีสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพระดับประเทศ มากถึง 13 แห่ง

ปทุมธานีมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต แหล่งศึกษาเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬาและนันทนาการ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือศักยภาพของจังหวัดปทุมธานี ในการเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยว ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ฐานการผลิต และแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายถนนกับระบบการขนส่งอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภาคกลางกับภูมิภาคอื่น ๆ

จึงมีความสำคัญของฐานเศรษฐกิจระดับประเทศ เพื่อรองรับการเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่าง 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประตูสู่กรุงเทพมหานคร

ดร.พินิจกล่าวต่อว่า ผลประโยชน์ทางจากการพัฒนาเมือง จะทำให้การค้าดีขึ้น ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ราคาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ขยับเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจให้เกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์คนท้องถิ่นด้วยตนเอง แทนที่จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่งผลให้เมืองน่าอยู่ขึ้นทั้งด้านสุขภาพ สังคม การศึกษา รวมถึงการท่องเที่ยว

ปทุมธานีเมืองดอกบัว ที่มีให้เห็นได้ชื่นชมความงามทุกเช้าค่ำ  ตามห้วยหนอง คลองบึง เมื่ออดีตไม่นานที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้มิได้มีให้เห็น เช่นดั่งแต่ก่อนแล้ว ประโยชน์ของบัวมีมากมายแต่ในยุคนี้หาคนที่รู้จักอย่างลึกซึ้งได้น้อย รวมทั้งการนำมาประกอบอาหารก็ได้รับความนิยมน้อยลง ไม่เหมือนอดีตที่คนจะรู้จักคุณค่าและนำมาทำอาหารกันอย่างแพร่หลาย

บัวมีชาติกำเนิดในโคลนตม แต่ดอกใบมีความสะอาดสวยงาม กลิ่นหอมหลุดพ้นจากสิ่งปฏิกูล ชูดอกใบอย่างสูงศักดิ์ อวดความสวยงาม จนได้ชื่อว่า “บงกช” อันแปลว่า เกิดจากตม กล่าวได้ว่า ทุกส่วนของบัวกินเป็นอาหารได้ และทุกส่วนของบัวก็ใช้ประโยชน์เป็นยาได้

หากแต่ทุกวันนี้ความสำคัญของบัวต่อคนในท้องถิ่นกลับลดลงไปมาก ประกอบกับพื้นที่ปลูกบัวในธรรมชาติก็เริ่มลดน้อยลงเนื่องจากการแปรสภาพหนอง คลอง บึง ไปเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรม ดังนั้นเพื่อดึงความสนใจเด็กๆรุ่นใหม่ ให้กลับมาตระหนักถึงคุณค่าของบัวหากชาวปทุมธานีร่วมใจกันอนุรักษ์และพัฒนาบัวไทย ไม่แน่ว่าในอนาคตวัชพืชอย่างบัว อาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้ปาล์มหรือมะพร้าวก็ได้

หากทุกภาคส่วนในจังหวัดปทุมธานีหันมาเรียนรู้ และภูมิใจกับทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองและทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิญอนุรักษ์เช่นนี้แล้ว ก็เชื่อว่าบัวคงไม่แล้งน้ำเป็นแน่ ดร.พินิจ บุญเลิศ กล่าว

พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา-รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี