X

มทร.ธัญบุรี คิดค้นพรมรักษ์โลก ย่อยสลายได้ ลดปริมาณขยะ

ปทุมธานี มทร.ธัญบุรี คิดค้นพรมรักษ์โลก ย่อยสลายได้ ลดปริมาณขยะ
แผ่นรองพรมรักษ์โลกจากพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ย่อยสลาย ลดปัญหาขยะพลาสติก ผลงานนักศึกษาปริญญาโท นางสาวประภัสสร วันนิจ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ดร.วีราภรณ์ ผิวสอาด คณะวิศวกรรมศาสตร์ คว้าเหรียญทอง ในงาน “Seoul International Invention Fair 2018” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี


นางสาวประภัสสร วันนิจ เล่าว่า พรมปูพื้นในปัจจุบันทำจากพลาสติกจำพวกพอลิโพรไพลีน(Polypropylene, PP) หรือพอลิเอสเตอร์ (Polyester) ประเภทพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Poly(ethylene terephthalate), PET) ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ไม่ย่อยสลาย และจากปริมาณการผลิตพรมในประเทศไทยมีมากกว่า 4,000 ตันต่อปี ดังนั้นปริมาณของขยะพลาสติกที่เกิดจากพรมในแต่ละปีจึงมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าปริมาณการผลิต เนื่องจากอายุการใช้งานของพรมอยู่ระหว่าง 2-5 ปี ขยะพลาสติกจากพรมจึงเป็นปัญหาต่อการกำจัด ซึ่งการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่เหมาะสมเนื่องจากคุณภาพและสมบัติทางกายภาพของพอลิเมอร์ที่ลดลง พอลิเมอร์เหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงเป็นแหล่งของปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่สามารถกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงศึกษาหาวัสดุชนิดใหม่ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทน PP หรือ PET โดยศึกษาการใช้พอลิแลคติคแอซิด(Poly(lactic acid), PLA) เพื่อขึ้นรูปชิ้นส่วนของพรมและใช้ทดแทนพอลิเมอร์แบบเดิม


งานวิจัยได้ทำการศึกษาการประยุกต์เทคโนโลยีการใช้พอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อผลิตชิ้นส่วนของพรม และศึกษากระบวนการขึ้นรูปที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ากระบวนการแบบเดิมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติที่ดีกว่าเดิม โดยศึกษากระบวนการขึ้นรูปผ้าไม่ถักไม่ทอ (nonwoven) แบบใหม่คือ Melt jet spinning หรือ Cotton candy method เป็นกระบวนการขึ้นรูปผ้าไม่ถักไม่ทอที่สามารถผลิตเส้นใยที่มีขนาดเล็กได้ในระดับไมโครเมตร และสามารถผลิตเส้นใยได้ในประมาณที่มาก ไม่ต้องใช้แรงดันไฟฟ้าสูงในกระบวนการ ทำให้ประหยัดพลังงานและได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความนุ่มมากขึ้นและมีสมบัติเชิงกลที่ดีขึ้น ลักษณะของพรมรักษ์โลกต้นแบบเป็นแผ่นผ้าที่มีลักษณะคล้ายสำลีหรือขนมสายไหม ฟูๆ นิ่ม สีขาว
ความแตกต่างของพรมรักษ์โลกต่างจากพรมในปัจจุบันเรื่องของการย่อยสลาย พรมส่วนใหญ่ที่ผลิตจากพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 400 ปี สำหรับแผ่นรองพรมที่คิดค้นจากพอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เมื่อทิ้งเป็นขยะจะสามารถเริ่มกระบวนการย่อยสลายได้ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ทำให้ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตพรมโดยใช้พอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพเพื่อทดแทนพอลิเมอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมและไม่ย่อยสลาย การผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอจากกระบวนการ Melt jet spinning หรือกระบวนการ Cotton candy เป็นกระบวนการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิต เนื่องจากใช้แรงดันไฟฟ้าต่ำ และยังสามารถผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอได้เป็นจำนวนมาก
รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติ์มากที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในครั้งนี้ และภูมิใจที่งานวิจัยสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากขยะพลาสติกมากขึ้น

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี