X

จังหวัดปทุมธานี ร่วมสานปณิธาน อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ”ปอดแห่งใหม่” ของปทุมธานี

ปทุมธานี ร่วมสานปณิธาน อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ”ปอดแห่งใหม่” ของปทุมธานี

วันที่ 10 มี.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายชาธิป รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อม หัวหน้าส่วนราชการ และภาคส่วนเอกชน เข้าเยี่ยมชมอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ


ความพิเศษของอุทยานฯที่มีพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร แห่งนี้ คือแนวคิดชาญฉลาดที่ซ่อนอยู่ในทุกองค์ประกอบอาคารทรงแปลกตารูปตัว H ลาดเอียงไล่ระดับเหมือนเนินดินขนาดยักษ์ โดดเด่นเตะตา ออกแบบอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยหลากหลายนวัตกรรมประหยัดพลังงาน ด้านบนคือ Green Roof Urban Farm ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หลังคาเขียวนี้ นอกจากจะเพาะปลูกพืชพรรณออร์แกนิก สำหรับใช้ในโรงอาหารมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีระบบจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่หมุนเวียนน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ได้ไม่รู้จบไม่เฉพาะความเก๋ล้ำ แต่อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ยังเก็บรักษาปณิธานและจิตวิญญาณดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ที่อยู่คู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ก่อตั้ง

อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าว่า “จุดเริ่มต้นของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี หรือ Puey Park for People and Sustainability มาจากวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนของธรรมศาสตร์ จึงมีการปรับปรุงผังแม่บทเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวซึ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และส่วนบริการประชาชน เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือการเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนทุกคน” อาจารย์ป๋วยคืออดีตอธิบการบดีผู้สร้างคุณูปการหลายประการให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้

โดยเฉพาะการขยายวิทยาเขตจากท่าพระจันทร์ไปยังศูนย์รังสิต ท่านมีความประสงค์ที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม “ไม่เฉพาะความร่มรื่นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่อาจารย์ป๋วยยังเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ คำนึงถึงเรื่องพื้นที่สีเขียวและการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ของคนในยุคปัจจุบันและคนรุ่นหลัง “ดังนั้นการสร้างอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีแห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนการสานต่อเจตนารมย์ของอาจารย์ป๋วย ในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยคุณภาพชีวิต หรือการกินดีอยู่ดีที่ท่านเคยแสดงทัศนะไว้เมื่อ 47 ปีก่อน”

เมื่อมองไปยังบริเวณด้านหน้าอุทยานฯ จะพบอนุสาวรีย์ของอาจารย์ป๋วย และอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่อย่างเรียบง่าย เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณูปการของท่านทั้งสองที่มีต่อสังคมไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี คือการผสมผสานกันอย่างลงตัวไร้รอยต่อ ระหว่างอาคารรูปตัว H ซึ่งสื่อความหมายโดยนัยยะถึงคำว่า Humanity อันหมายถึงความเท่าเทียมเสมอกันของพลเมืองไทยทุกคน เพราะอาคารแห่งนี้เปิดเป็นสาธารณะประโยชน์ให้คนทั่วไปเข้าใช้ได้เช่นกัน ไม่เฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาคารสร้างอยู่ใต้หลังคาที่เป็น ‘พูนดิน’ สอดคล้องกับความหมายชื่ออาจารย์ป๋วย สื่อถึงการบำรุง หล่อเลี้ยง เสริมกำลัง ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นเป็นแค่การนำดินมากองถมกัน แต่ต้องมีพืชพรรณงอกงามอยู่บนผืนดินอุดมสมบูรณ์ด้วย และนั่นคือที่มาของคอนเซปต์ ‘ภูเขา’ ที่ร่มรื่นไปด้วยพืชพรรณ

เป็นปอดสีเขียวผลิตออกซิเจนให้กับพื้นที่โดยรอบภูเขาขนาดย่อมแห่งนี้ ถือเป็น Green Roof Urban Farm ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย Urban Farm คือการทำเกษตรกรรม ที่เมื่อได้ผลผลิตก็ใช้ปรุงอาหารอยู่ภายในย่าน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผลผลิตไปยังพื้นที่อื่น “แปลงเกษตรออร์แกนิกบนหลังคาเขียวขนาด 7,000 ตร.ม. จะเปิดให้นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยและผู้มีรายได้น้อย ได้มาทดลองปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อนำผลผลิตไปรับประทานเอง หรือจะขายเป็นรายได้เสริมให้กับโรงอาหารของมหาวิทยาลัยก็ได้ “ผักที่นี่ต้องเป็นออร์แกนิกเท่านั้น เพราะเรามีเป้าหมายในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้รูปแบบเกษตรกรรมของประเทศไทยเป็นแบบไร้สารเคมีอย่างยั่งยืนในอนาคต” อาจารย์ปริญญากล่าว

พื้นที่ภายในอาคาร ประกอบไปด้วยคอนเสิร์ตฮอลล์ 2 ห้อง น้องนิทรรศการ 2 ห้อง ห้อง Archeive ที่รวบรวมฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้องสมุดสาธารณะ Co-Working Space โรงอาหารออร์แกนิก และห้องประชุมที่เปิดให้นักศึกษาสามารถเข้าใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเสรี เพราะตั้งใจให้เป็น Academic Community และ Social Learning Space

ด้าน ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าว่า นับเป็นสิ่งที่ดีที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แห่งนี้ สร้างอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี สวนสาธารณะลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากที่สหรัฐ เป็นพื้นที่ปอดแห่งใหม่ ของคนปทุมธานี ด้วยแนวคิดที่ทันสมัยโดยใช้ นวัตกรรมใหม่ มาผสมผสานลงตัวที่สมบูรณ์ที่สุด อย่างไรก็ดี การจัดสร้าง “สวนป๋วย” ยังขาดงบประมาณอยู่พอสมควร จังหวัดปทุมธานี จึงเชิญชวนหน่วยราชการ และภาคเอกชนในพื้นที่เข้าเยี่ยมชม เพื่อที่จะสนับสนุน บริจาคสมทบทุน สานปณิธาน สร้างพื้นที่เรียนรู้ เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนของประชาชนอย่างแท้จริง จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสมทบทุนสร้าง “สวนป๋วย”สามารถบริจาคโดยตรงได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตสำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ โทร 0-2613-2045,08-3331-6000

อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว บนพื้นที่60,000 ตารางเมตร ความสูงเท่ากับตึก 4 ชั้นประกอบด้วย ห้องสมุดประชาชน ห้องประชุมและสัมมนา พื้นที่ Co-Working Space ศูนย์นิทรรศการ พื้นที่จัดแสดงงานคอนเสิร์ต ขนาด 630 ที่นั่ง ศูนย์อาหารออร์แกนิค และพื้นที่กิจกรรมอเนกประสงค์ (Amphitheatre) เพื่อการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับข้อมูลและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ที่โทร 0-2564-4440-79 ต่อ 1911 นะครับ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี