X
เกาะลันตา จ.กระบี่

เกาะลันตา ร่วม สกว. วิจัยขีดความสามารถ สู่การเป็นที่ท่องเที่ยวสีเขียว

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ มีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเลเกาะสิมิลันและอ่าวมาหยา เตรียมออกประกาศปิดอ่าวมาหยา ในเขตอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. – 30 ก.ย. 61

เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินขีดความสามารถที่พื้นที่จะรองรับได้ และมีปัญหาหาดทรายทรุด ปะการังได้รับความเสียหาย จากการจอดเรือเกยหาดและพฤติกรรมอื่นๆของนักท่องเที่ยว ซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หมู่เกาะลันตาใหญ่เป็นพื้นที่ใน จ.กระบี่ ที่นักท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ต่างหมายตามาสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิต ด้วยบริเวณโดยรอบที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ที่ไม่ได้เกิดจากการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเหมือนกับหลายๆเกาะยอดนิยมในภาคใต้

เกาะลันตา จ.กระบี่

ทำให้เกาะลันตาแห่งนี้ นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีจุดรั่วไหลทางการท่องเที่ยว มีเสน่ห์ดึงดูดให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและนักท่องเที่ยวกลุ่มสแกนดิเนเวียน ที่นิยมการท่องเที่ยวแนวผจญภัยแวะเวียนมาในทุกฤดูกาล

การพัฒนาการท่องเที่ยวในเกาะลันตา จึงไม่ได้หมายถึงเพียงการประชาสัมพันธ์ให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาสร้างรายได้ในชุมชน แต่เป็นพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือการรักษาไว้ซึ่งระดับความสมดุลของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและทรัพยากรธรรมในท้องถิ่น เพื่อทำไปสู่เป้าหมายการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Green Destination

โดยมีการผสานความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนและคณะวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในแผนงาน “การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่” โดย ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์

คณะวิจัยได้เข้ามาทำการศึกษาถึงผลกระทบและกำหนดขีดความสามารถในการรองรับทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสม ทั้งด้านนิเวศวิทยา ด้านจิตวิทยา ด้านสังคมวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่หมู่เกาะลันตา

อันจะนำไปสู่การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวและระดับการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับขีดความสามารถในการรองรับของทรัพยากรในพื้นที่

อาทิ การบริหารจัดการ ‘เกาะรอก’ ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ในบริเวณเกาะลันตา ที่นับวันยิ่งมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต จนเกินขีดความสามารถในการรองรับ และเกิดผลกระทบต่างๆตามมา

จากการวิจัยพบว่า บริเวณเกาะรอกมีความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 400 คน/วัน และมีข้อจำกัดของน้ำใช้บนเกาะที่อาจไม่เพียงพอหากมีนักท่องเที่ยวเกิดกว่าจำนวนที่คาดการณ์ไว้

ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้ ทำให้มองเห็นถึงแนวทางการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวและปริมาณน้ำใช้ โดยเฉลี่ยคนที่ต้องการเดินทางมายังเกาะรอกออกเป็นรอบๆ ด้วยการจองล่วงหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร

พร้อมกับการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวใช้น้ำอย่างประหยัด ที่สามารถนำน้ำใช้ส่วนที่เหลือนี้ไปเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น สร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวซ้ำ ซึ่งเกิดประโยชน์และชุมชน

เกาะลันตา จ.กระบี่

นอกจากนี้ บนเกาะลันตายังมี ‘เมืองเก่าศรีรายา’ หรือที่มักเรียกกันในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่า ‘Lanta Old Town’ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุกว่าร้อยปี แหล่งเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศการสัมผัสธรรมชาติ ซึมซับวิถีชุมชนดั้งเดิม

เมืองเก่าแห่งนี้ได้ที่รวมเอาพหุวัฒนธรรมไว้อย่างลงตัว ทั้งชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม และอุรักลาโว้ย ซึ่งปัจจุบันยังมีบ้านเรือนและสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม อย่างบ้านเรือนที่สร้างจากไม้ที่ถูกถากด้วยขวานให้ได้ชม และอนุรักษ์วิถีชีวิตของชาวบ้านลันตา ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากที่อื่น

ผสมผสานกับการประยุกต์สิ่งต่างๆตามยุคใหม่ อาทิ การดัดแปลงบ้านเรือนบางส่วนให้ร่วมสมัย อาทิ เกสต์เฮาส์ ร้านขายของที่ระลึกแบบพื้นเมืองและประยุกต์ ร้านอาหารริมน้ำ แกลอรี่ ร้านเครื่องดื่ม ฯลฯ

เมืองเก่าศรีรายา จ.กระบี่

เมืองเก่าศรีรายา จ.กระบี่

เมืองเก่าศรีรายา จ.กระบี่

เกาะลันตาจังหวัดกระบี่ นับเป็นอีกหนึ่งโมเดลการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงการดูแลรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวและคุณภาพของประสบการณ์ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวควรจะได้รับไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นให้เกิดระดับการใช้ประโยชน์ทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสมในเวลาเดียวกัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ