X
บลูคาร์บอนโซไซตี้

เปิดตัว’บลูคาร์บอนโซไซตี้’ ชูระบบนิเวศทางทะเล เป็น’พระเอก’ลดภาวะโลกร้อน

เปิดตัว “บลูคาร์บอนโซไซตี้ (Blue Carbon Society)” องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หวังสร้างการเรียนรู้ ถึงความสำคัญระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง  ในบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์โลก แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน 

ปัญหาภาวะโลกร้อนถูกกล่าวถึงมานานกว่าสิบปี และยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขและป้องกันจากทุกคนในโลก แต่ที่ผ่านมากรีนคาร์บอน หรือป่าไม้ที่ทำหน้าเสมือนเป็นปอดของโลก กำลังเจอวิกฤต เพราะการตัดไม้ทำลายป่า นักวิทยาศาสตร์จึงหันไปให้ความสนใจกับทางเลือกที่ช่วยลดโลกร้อนอย่าง ‘บลูคาร์บอน’ มากขึ้น

บลูคาร์บอน หรือ คาร์บอนสีน้ำเงิน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้โลกรอดพ้นจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้ โดยใช้ศักยภาพของท้องทะเลในการเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และปล่อยออกซิเจนออกมา ผ่านองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง (Marine and Coastal Ecosystem Components) อาทิ ป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มทำหน้าที่เสมือน “เครื่องฟอกอากาศของโลก”

เป็นที่มาของ บลูคาร์บอนโซไซตี้ ที่ก่อตั้งโดย ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ที่มีบทบาทเชิงอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ผลิต “เชลล์ดอน” แอนิเมชั่น 3 มิติ นำเสนอเรื่องราวชีวิตสัตว์ใต้ท้องทะเลอันดามัน ได้รับความนิยมออกฉายในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก และ ทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ผู้สร้างกลุ่มบริษัทดีที ช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาสในสังคม ที่มีความต้องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์

ทั้งคู่ตั้งใจให้ “บลูคาร์บอนโซไซตี้” เป็นที่สำหรับทุกคนเข้ามาร่วมสร้างความตระหนัก และเรียนรู้ร่วมกัน ถึงความสำคัญของท้องทะเลและชายฝั่ง ในบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์โลก ให้มีธรรมชาติที่สวยงาม น่าอยู่ เพื่อทุกชีวิตทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร

ชวัลวัฒน์ กล่าวว่า “เด็กรุ่นใหม่คือพลังสำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรเติบโตต่อไป โดยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าร่วมเป็นกลุ่ม บลูคาร์บอนโซไซตี้ได้ สิ่งดีๆไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย ขอให้มีแค่ใจเข้ามาร่วมกัน ผนึกกำลังกัน”

นอกจากการเปิดตัวครั้งนี้บลูคาร์บอนโซไซตี้ องค์กรด้านการอนุรักษ์แล้ว ยังมีการฉายภาพยนตร์สารคดีแนวอนุรักษ์ระดับโลกจากบีบีซี ร่วมมือกับมงคลเมเจอร์ในการจัดฉายในประเทศไทย ที่มีชื่อว่า “Earth : One Amazing Day” (เอิร์ธ 1 วันมหัศจรรย์สัตว์โลก)

ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ 38 ชนิด จากทั่วโลก 22 ประเทศ ถ่ายด้วยเฟรมเรท 1000 เฟรมต่อ 1 วินาที ที่ปราศจากการตกแต่งโดย computer graphics ใช้วิธีเรียงร้อยเรื่องราวความเปลี่ยนแปลง การตอบสนองของสัตว์และสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ภายในช่วงเวลา 1 วัน ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนลับขอบฟ้า ซึ่งจะเข้าฉายจริงในวันที่ 15 มีนาคมนี้

ก่อนชมภาพยนตร์ มีการพูดคุยถึงเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ กับ “ริชาร์ด เดล” (Richard Dale) ผู้กำกับ/นักเขียนบทภาพยนตร์มือรางวัล BAFTA  และ Emmy พร้อมโปรดิวเซอร์ “สตีเฟน แมคโดโน” (Stephen McDonogh) บินตรงจากประเทศอังกฤษมาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากการถ่ายทำตลอด 5 ปี

สตีเฟ่น-ริชาร์ด

สตีเฟน เล่าว่า จุดโดยเริ่มต้นในการทำสารคดีเรื่องนี้ เกิดจากความคิดอยากทำภาพยนตร์ที่ทุกคนสัมผัสได้ นั่นก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและสัตว์โลก อยากจะถ่ายทอดให้คนรู้ว่าธรรมชาติและสัตว์มีความสำคัญ โดยเฉพาะคนเจนเนอเรชั่นใหม่

ความยากของสารคดีเรื่องนี้สำหรับช่างภาพอย่างสตีเฟ่นคือ นักแสดงที่เป็นสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่เราไม่สามารถสั่งได้เลยว่าจะให้เขาไปทำอะไร สำหรับคนตัดต่ออย่างริชาร์ด สิ่งที่ยากคือจำนวนฟุตเทจมหาศาลที่เทียบได้กับความจุของแผ่น DVD ประมาณ 250,000 แผ่น ที่ต้องใช้เวลาตัดต่อร่วม 1 ปี

โดยโครงสร้างของเรื่องคือการเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน ที่เหมือนมีพระอาทิตย์เป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง อยากจะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านสายตาเด็กๆมากที่สุด ให้เข้าใจว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไร เข้าใจโลก และพวกเขาสามารถช่วยโลกใบนี้ได้ยังไง

 “หลังจากดูเรื่องนี้อยากให้ทุกคนเปลี่ยนภาพลักษณ์ในสิ่งที่ทุกคนเห็น สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ที่ผ่านมาเราอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ธรรมดามาก มองข้ามความสำคัญ อยากให้ทุกคนกลับมามองเสมือนว่าเห็นสิ่งเหล่านี้ครั้งแรก แล้วคุณจะสิ่งรอบตัวเรามากขึ้น” ริชาร์ด กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ