X
fake news

ปลุกสังคมสู้วิกฤติ ‘Fake news’

นักวิชาการและสื่อมวลชวนจี้เร่งหามาตรการรับมือ “Fake news” หวั่นสร้างความเสียหายให้กับสังคมมากขึ้นในยุคสังคมออนไลน์

คำว่า “Fake news” เป็นคำที่กล่าวถึงข่าวที่หวือหวา ชวนเชื่อ พาดหัวข่าวที่ดูร้อนแรง สะดุดตา ชวนให้ติดตาม เกาะติดกระแสข่าวดัง ที่เนื้อหาประกอบด้วยข้อมูลที่ไม่ใช่ข่าวจริง หรือเป็นข้อมูลที่หลอกลวง

แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมข่าวสาร แต่ในยุคสังคมออนไลน์ ได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยมีเจตนาเพื่อหลอกลวง อาจเพื่อสร้างความเสียหายแก่สังคม แก่หน่วยงาน รวมทั้งหวังผลทางการเมือง รวมไปถึงสร้างเพื่อเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการแอบแฝงไปกับข่าว เพื่อเพิ่มจำนวนผู้อ่านหรือการแชร์ออนไลน์และรายได้จากการคลิกผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้เกิดวิกฤติ Fake news ซึ่งจะทำลายความถูกต้องของเนื้อข่าว แต่ก็มีสื่อมวลชนบางประเภทยังอาศัย Fake news บางลักษณะในการหารายได้เพื่อประคับประคองสถานะของสื่อสารมวลชนในยุคที่เกิดการแข่งขันของสื่อให้เห็นอยู่เสมอ

คณะนิติศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “วิกฤติ Fake news ในนิเวศ ธุรกิจสื่อ”  วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 ณ คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) แลกเปลี่ยนมุมมอง และเสนอแนวทางลดและแก้ปัญหา ระหว่างวิทยากรและผู้ร่วมสัมมนา

ผศ.ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. เปิดเผยผ่านมุมมองในฐานะนักนิเทศศาสตร์ว่า ปรากฏการณ์ Fake news ไม่ใช่สิ่งใหม่ สำหรับเมืองไทย มันมีกระบวนการในการทำงานนานแล้ว เพียงปัจจุบันเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของออนไลน์

ในอดีตช่วงที่มีการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในอดีต มีโผปลอม ข่าวปลอม ในลักษณะของ Fake news ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เพียงแค่สื่อแบบดั้งเดิมมีผู้ที่ทำหน้าที่คัดกรองข่าวและเผยแพร่ช้า ขณะที่ปัจจุบันคือ Fake news แพร่ไปอย่างรวดเร็วและมักจะมาพร้อมกับ hate speech (วาจาที่สร้างความเกลียดชัง) และบ่อยครั้งสื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้ Fake news น่าเชื่อถือ

ปัญหาที่สำคัญคือการที่คนยังไม่รู้เท่าทันสื่อ ขณะที่สื่อเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น การแก้ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ‘คนทำข่าวก็ต้องรู้เท่าทันข่าวสาร หรือไม่รู้เท่าทัน ก็ยังดีกว่าสมคบคิด’ ผศ.ดร. วิไลวรรณ กล่าว

ด้าน อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มธ. ในฐานะนักกฎหมายมองว่า ‘Fake news เป็นพัฒนาการของสังคม แต่เมื่อข้อมูลมหาศาลเกิดขึ้น จำเป็นต้องจัดการกับมัน เรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นกระบวนการที่ต้องค่อยๆเรียนรู้’

ปัญหาอินเตอร์เน็ตกับสื่อ มีหลายประการ ซึ่งมีทั้งข้อและข้อเสียในตัวเอง

  • ความเป็นนิรนาม (anynomity) ทำให้คนทั่วไปกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่กล้าพูดตอนมีตัวตน ข้อเสียคือการไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ ข้อดีก็คือความเป็นนิรนามคนที่เป็นคนขายขอบ ถูกกดทับโดยสภาพสังคมอย่างกลุ่ม LGBT (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) ทำให้ไม่ยึดติดกับตัวตนโดยเน้นเรื่องเนื้อหามากกว่า
  • ไร้การควบคุมคุณภาพ (lack of quality control) ไม่ได้ผ่านการกรองเหมือนสำนักข่าวดั้งเดิม ในอดีตถ้าพบว่ามีข้อมูลข่าวผิดก็ต้องใช้เวลาในการแก้ไขข้อมูล มีกระบวนการตรวจสอบได้อย่างทันท่วงทีด้วยซ้ำ เพราะใครก็ได้สามารถแก้เป็นปัญหาและทางออกในเวลาเดียวกัน
  •  มีผู้เสพข้อมูลมหาศาล (high potential audience) เข้าถึงคนได้เยอะมาก เป็นปัญหาในกรณีที่ทำความเดือดร้อนให้กับคน ซึ่งการ Bully โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ยากจะหลีกหนี สามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ตามไปได้ทุกที่
  •  แหล่งชุมชนคนสุดโต่ง? (และคนชายขอบ) ในกรณีที่ไม่กล้าแสดงความเห็นในสังคมธรรมดา แต่เมื่อมาอยู่ในโซเชียลมีเดียก็กล้าพูดในสิ่งที่สังคมทั่วไปอาจไม่ยอมรับ
  • ตลาดเสรีแห่งความคิดอันหลากหลาย หรือห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo chamber)? ที่สามารถนำเสนอได้ทั้งข้อเท็จจริง ความเชื่อ ข่าวลือ อคติ

เสนอแนวทางในการแก้ปัญหา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมให้คนรู้เท่าทันสื่อ มีแนวทางในการแก้ไขอีกหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องให้กฎหมายเข้ามามีบทบาทมากนัก เพราะกฎหมายที่มีอยู่เดิมสามารถใช้ได้ หากใช้กฎหมายคือการใช้อำนาจรัฐ อาจสร้างบรรยากาศตึงเครียดในสังคม 

เสนอแนวทางในการแก้ไข คือ ใช้การสื่อสาร fact checker กระตุ้นให้สื่อฯเกิดการแข่งขันของข้อมูลจริงๆ หน่วยงานรัฐเองต้องทำงานกับข้อมูลมากขึ้น เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความรู้เท่าทันข้อมูล รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับกระแส fake news ได้ง่ายขึ้น

การใช้ Parental Setting ในการกรองหรือจำกัดไม่ให้เด็กเข้าไปในช่องที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถลดการเสพสื่อที่ไม่เหมาะสมได้ ส่วนกรณีข้อมูลที่มีเจตนาต้องการสร้างความเดือดร้อน เช่น ชวนก่อการร้าย, revenge porn, ใส่ความ, สร้างความเกลียดชัง ฯลฯ ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ผลในกรณีที่ฉุกเฉินอาจใช้อำนาจศาลในการลบ หรือใช้โทษอาญาสำหรับกรณีร้ายแรง

ที่สำคัญ คือ บริษัทเทคโนโลยี เช่น search engine และ media platform ที่จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท และร่วมรับผิดชอบเมื่อมี fake news เกิดขึ้น

สัมมนาวิชาการ

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานกรรมการ บริษัท อะแดป ครีเอชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตแพลทฟอร์ม 77kaoded และ Money2know กล่าวว่า

“Fake news เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การแพร่กระจายช้า จึงไม่ค่อยมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกมากนัก แต่ปัจจุบันการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว กระทบคนมากขึ้น คนที่จะเสพสื่อและตอบสนองกับข่าวโดยใช้อารมณ์มากขึ้น สังเกตได้ว่าเรื่องไหนที่มีใช้อารมณ์จะมีการเข้าถึงมาก”

คนที่ตั้งใจทำ Fake news ต้องมีแรงจูงใจ เช่น การขายอาหารเสริม หรือการชวนเชื่อในสิ่งคนอยากให้มันเป็นจริง เช่น มะเร็งหายได้เพราะยาชนิดต่างๆ เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง นอกจากปัญหาข่าวลวง ยังมีกรณีที่แชร์การช่วยเหลือโดยไม่ศึกษารายละเอียด เป็นเรื่องเก่า ผ่านมานานทำให้เกิดความสับสน

ยกตัวอย่างเช่น มีการแชร์ถึงต้องการเลือดด่วน มีคนหวังดีแชร์ต่อโดยไม่ตรวจสอบ ทำให้มีที่ต้องการช่วยเหลือ ติดต่อไปที่สภากาชาดไทยเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีความต้องการเลือดดังกล่าวแล้ว ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย

การแก้ไข ส่วนหนึ่งคือเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือเจ้าของ Platform ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่ปรากฏใน Platform ของตนเอง ซึ่งในโลกของออนไลน์ไม่ค่อยมีใครตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าที่ควร ควรให้ยืนยันตัวตนใน Platform เพื่อลดโอกาสในการสร้าง Fake news

ที่ผ่านมาสังเกตได้ว่า Fake news ด้านสุขภาพพบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นไลน์ บ่อยครั้งที่คนไข้เชื่อข้อมูลเหล่านี้มากกว่าเชื่อหมอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ข้อเสนอคือกลไกจะช่วยลดปัญหานี้ คือแนวคิดการสร้างระบบเพื่อรับมือกับการไหลบ่าของข้อมูล คล้ายชลประทานข้อมูลข่าวสารไม่ให้ท่วมทุกคนตายหมด

ด้วยการแบ่งประเภทข้อมูล แยกเป็นข้อมูลร้อน หมายถึงข้อมูลที่ต้องรีบเผยแพร่ และข้อมูลเย็นซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่เร่งด่วน โดยจัดการให้ข้อมูลมูลร้อนที่เป็นบวกกระจายตัวอย่างรวดเร็วไปในทุก Platform ขณะเดียวกันก็จะต้องหาทางตัดวงจร ข้อมูลร้อนที่เป็นลบให้ขาดไป ที่ผ่านมาระะบบออนไลน์บ้านเรายังขาดข้อมูลดี ต้องหาทางให้ข้อมูลที่ถูกต้องการกระจายตัวไป โดยต้องอาศัยกลไก ดังนี้

โมเดลการสื่อสาร

  • Intelligence unit ภาครัฐต้องจัดระบบข้อมูลให้เข้าถึงได้ ข้อมูลที่ดี เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
  • ภาคประชาชน ใช้วิจารณญาณ กรองข้อมูลที่ได้รับมาก่อนจะเผยแพร่ต่อ
  • การลงโทษ ใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ
  • เชื่อมประสานงาน coordinator, network of network เชื่อมโยงกันของข้อมูลและหน่วยงานต่างๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์เพื่อลดปัญหา

ด้าน อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการ The Momentum (ผู้บริหารองค์กรสื่อ) Fake news แพร่หลายมากในปี 2016 ในขณะนั้นส่วนใหญ่จะเป็น Fake news โดยแท้ คือค่อนข้างดูง่ายได้ว่าผิด มักไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน แต่พักหลังๆ พบว่ามันมีวิวัฒนาการ เริ่มเล่นกับความจริง แต่เลือกว่าจะจับประเด็นไหนจะยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก เช่น เพจเลียนแบบที่ตั้งใจให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเพจของจริง บางครั้งวัตถุประสงค์อาจทำเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เรื่องที่ส่งผลกระทบมากคือเรื่องความเชื่อ ความคิด จุดยืน

“คนจะเลือกอ่านข้อมูลที่สอดคล้องกับความคิดของเขา แม้ว่าข้อเท็จจริงจะไม่ใช่ หากสอดคล้องกับจุดยืนทัศนคติ หรืออคติของตัวเอง อารมณ์เป็นเชื้อเพลิงที่ดีในการสร้าง Fake news”

ส่วนการลดปัญหา Fake news ปัจจัยสำคัญคือคนที่อ่านข่าว เช่น ในสังคมอเมริกาเวลาเจออะไรที่สงสัยเมื่ออ่านข่าว ให้ส่งกลับเข้าไปในกองบรรณาธิการ เพื่อวิเคราะห์ว่ามีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน โดยจัดเรทติ้ง ที่เรียกว่า ‘พีนอคคีโอ้เทส’ ขั้นต่างๆเพื่อระบุระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ

คิดว่าถ้ามีการร่วมกันทำตรงนี้น่าจะสนุกและมีประโยชน์ ขณะเดียวกันกลไกในการรับมือคือการมีข้อมูลข่าวสารที่มากพอ การเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้จะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลเองได้ในเบื้องต้นได้

ถึงแม้ Fake news จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่ Fake news จำเป็นต้องมีทางออกใหม่ๆ ที่เพื่อลดแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนที่ตระหนักถึงปัญหา พยายามลุกขึ้นมาแก้ปัญหา ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนเผยแพร่ การส่งเสริมการศึกษาให้รู้เท่าทันสื่อต่างๆในทุกระดับ 

กลไกรัฐ ต้องให้ทำงานและตรวจสอบการทำงาน พลังของผู้บริโภคในการแสดงความเห็นอย่างมีเสรีภาพ ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ตลอดจนการลดอคติ อาจช่วยทำให้ Fake news อ่อนกำลังลงได้ในที่สุด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ