X

ธรรมศาสตร์เปิดวิชาใหม่ ‘สร้างสรรค์และการสื่อสาร’ เน้นเรียนรู้นอกกรอบ เลิกสอบวัดผล

หลายปีที่ผ่านมา ทุกมหาวิทยาลัยต่างเร่งปรับหลักสูตร และปรับวิธีจัดการเรียนการสอนขึ้นใหม่ มุ่งหวังให้เกิดการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่เร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกด้าน นอกจากแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ ‘กัมมันตศึกษา’ (Active Learning) และการมุ่งสร้าง ‘บัณฑิตประกอบการ’ (Graduate Entrepreneur) ที่เป็นนโยบายหลักแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานสำหรับนักเรียนชั้นปีที่ 1 ใหม่

เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และวางรากฐานกรอบวิธีคิดความเป็นผู้นำสังคมในศตวรรษที่ 21 โดยวางตามแนวการพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตธรรมศาสตร์ ซึ่งเรียกกันย่อๆว่า GREATS อันได้แก่

1. ทันโลกทันสังคม (Global Mindset)
2. สำนึกรับผิดชอบยั่งยืน (Responsibiliity)
3. สื่อสารสร้างสรรค์และทรงพลัง (Eloquence)
4. มีสุนทรียะในหัวใจ (Aesthetic Appreciation)
5. เป็นผู้นำ ทำงานเป็นทีม (Team Leader)
6. มีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ (Spirit of Tammasat)

อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณลักษณะทั้ง 6 ประการข้างต้น คือ ความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร ถึงแม้จะไม่สามารถจับต้องได้ แต่เป็นทักษะที่ต้องการและจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานสำหรับทุกองค์กรในสังคมร่วมสมัย

จึงจัดการเรียนการสอนในรายวิชาพื้นฐานที่ปรับปรุงใหม่ ในชื่อวิชา มธ 106 ความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร (TU 106 Creativity and Communication) การเรียนการสอนที่เน้นจุดประกายให้นักศึกษาเข้าใจอัตลักษณ์ของตนเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้สิ่งต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ม.ธรรมศาสตร์

อ.สันติ จิตระจินดา อาจารย์ประจำวิชาความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร กล่าวว่า “วิชานี้เน้นให้เด็กได้รวมกลุ่มทำงาน ได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กคือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสขาวิชาที่เรียนได้เป็นอย่างดี สามารถทำงานเป็นกลุ่ม แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ลดวิธีการวัดผลการเรียนแบบเดิมๆ จากการสอบกลางภาค ปลายภาค เปลี่ยนมาวัดผลเชิงประจักษ์จากคุณภาพของโครงงานที่ผู้เรียนผลิตออกมา เสมือนในชีวิตการทำงานจริงที่หาทำงานได้มีประสิทธิภาพ คะแนนที่ดีจะตามมาเอง”

สิ่งที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสอน ที่หลุดจากกรอบการฟังบรรยายแบบเดิมๆ คือ ความกล้าที่จะแสดงออก ความสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบของนักศึกษา ที่สะท้อนจากผลงานและการเปลี่ยนแปลงเป็นที่ประจักษ์มาตลอด 5 ภาคการศึกษาที่เปิดสอน

เช่นเดียวกับบรรยากาศภายในห้องเรียนรวม บร.4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากทุกคณะในมหาวิทยาลัย กว่า 500 ชีวิต ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อตอบโจทย์ ผลงานชิ้นแรกที่ได้รับมอบหมาย ประจำภาคการศึกษา 2/2560 อย่างคึกคัก

ภายใต้โครงงานนำเสนอเรื่อง Poster Presentation เรื่อง Who are we? วิเคราะห์ความจริงในสังคมไทย เพื่อแสวงหาความเข้าใจและคำตอบต่อคำถามที่ว่า ‘ความจริงในชีวิตของเยาวชนไทยนั้น ถูกประกอบสร้างและกำหนดขึ้นได้ด้วยอิทธิพลของสื่อสารมวลชนโดยวิธีการเช่นไร’

ม.ธรรมศาสตร์

นักศึกษาทั้ง 35 กลุ่ม นำเสนอคำตอบที่เกิดจากการวิเคราะห์ และสังเคราะห์จากสมาชิกภายในกลุ่มของตน ไว้อย่างน่าสนใจ

นางสาวธันยมัย ชูอิฐจีน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ตั้งคำถามกลับว่า ในชีวิตของเยาวชนไทย ‘สรุปแล้วสื่อทำให้เราเป็นแบบนี้ หรือเรากันแน่ที่ทำให้สื่อเป็นแบบนี้’ โดยสะท้อนว่าสื่อและความคิดของคนเรานั้นมีอิทธิพลเท่าๆกัน หากรู้เท่าทันสื่อก็จะได้ประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามหากขาดการรู้เท่าทันสื่อก็อาจได้รับอิทธิพลจากสื่อตามกระแสสังคมที่อาจเกิดทั้งปัจจัยบวกและลบในเวลาเดียวกัน

ด้าน นายนัศรูน เปาะมะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปะศาสตร์ มองว่าอิทธิพลของสื่อสารมวลชนที่ประกอบสร้างและกำหนดขึ้นด้วยวิธีตอบสนองความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นความต้องการของมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยยกเอาตัวอย่างร้านสะดวกซื้ออย่าง Sven-Eleven ที่มีการทำการตลาดผ่านสื่อฯชนิดต่างๆ

ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกช่องทาง การรับชำระค่าใช้จ่ายต่างๆในรูปแบบ One stop service ตลอดจนการรีวิวสินค้าจากผู้บริโภคที่เผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆอย่างรวดเร็ว ทำให้เยาวชนต่างรู้สึกว่าร้านสะดวกซื้อนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ของการดำเนินชีวิตไปโดยปริยาย

ส่วน นายนนธนัตถ์ ทัฬหะวาสน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ สร้างผลงานในแนวคิด ‘Don’t let a phone control you’ เนื่องจากยอมรับว่าอิทธิพลของสื่อฯทุกชนิดกลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเยาวชนมากเกินไป

โดยเฉพาะในลักษณะของสมาร์ทโฟน ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้ทุกอย่าง เป็นได้ทั้งผู้ส่งสารและรับสาร จนบางครั้งทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เก็บตัว ไม่แคร์สังคม ซึ่งอันที่จริงแล้วสื่อเหล่านี้ไม่สามารถจับต้องได้ และอาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวจนเชื่อมโยงในสู่ปัญหาอื่นๆได้ จึงควรเสพสื่ออย่างพอเหมาะพอดีและมีสติ

แนวคิดและมุมมองที่แตกต่างของนักศึกษา สะท้อนถึงอัตลักษณ์บุคคลที่แตกต่างกัน เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่แสดงถึงการรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ของนักศึกษาพร้อมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างสร้างสรรค์ และเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นโดยปราศจากอคติ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ