X

ข้อมูลที่ตั้ง-เขตปกครองจังหวัดตาก

จังหวัดตากตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศ มีพื้นที่ทั้งหมด 16,406.65 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีขนาดเป็นอันดับ 4 ของประเทศและเป็นอันดับ 2  ของภาคเหนือ  ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 องศา 50 ลิปดา  36  ฟิลิปดาเหนือ  และเส้นแวงที่ 99  องศา 7 ลิปดา 22  ฟิลิปดาตะวันออก  สูงกว่าระดับน้ำทะเล 116.2 เมตร  มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 426 กิโลเมตร

จังหวัดตาก

สภาพภูมิประเทศของจังหวัดตากเป็นพื้นที่ตามแนวเทือกเขา โดยสภาพพื้นที่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ใหญ่ๆ โดยมีเทือกเขาถนนธงชัยกั้นกลาง ทำให้ลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันไป เนื่องจากเทือกเขาถนนธงชัยเป็นตัวปะทะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ทำให้ซีกตะวันออกได้รับความชุ่มชื้นจากลมมรสุมไม่เต็มที่ สภาพแห้งแล้ง ส่วนฝั่งตะวันตกจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมมากกว่าทำให้ปริมาณฝนตกมีความชุ่มชื้นโดยเฉพาะในที่ที่อยู่ในเขตภูเขา

            ส่วนที่ 1   ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก   ประกอบด้วย 4 อำเภอ  ได้แก่  อำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และอำเภอวังเจ้า สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและที่ราบสูง ลาดเอียงลงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ทำให้เกิดพื้นที่ราบแคบริมสองฝั่งของแม่น้ำ

            ส่วนที่ 2   ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วย 5 อำเภอ ได้แก่อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด  อำเภออุ้มผาง และอำเภอท่าสองยาง ภูมิอากาศได้รับอิทธิพลมาจากมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน มีความชุ่มชื้น  ฝนตกมากกว่าซีกด้านตะวันออก

จังหวัดตากมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร  นครสวรรค์  อุทัยธานี  กาญจนบุรี และประเทศสหภาพพม่า ยาวประมาณ 540 กม. (แม่น้ำเมย 170 กม  เทือกเขาตะนาวศรี 370 กม.)

การปกครอง

จังหวัดตากมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๕๓๒,๓๕๓ คน เป็นชาย ๒๖๘,๗๔๒ คน หญิง ๒๖๓,๖๑๑ คน แบ่งเขตการปกครองเป็น ๙ อำเภอ ซึ่งการปกครองท้องถิ่นจำแนกได้คือ ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑ เทศบาลนคร ๑ เทศบาลเมือง ๑๗ เทศบาลตำบล ๔๙ องค์การบริหารส่วนตำบล
(ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ : จากที่ทำการปกครองจังหวัดตาก)

คำขวัญประจำจังหวัด

“ธรรมชาติน่ายล ภูมิพลเขื่อนใหญ่ พระเจ้าตากเกรียงไกร เมืองไม้และป่างาม”

ตราประจำจังหวัดตาก

สัญลักษณ์จังหวัดตาก

ตราประจำจังหวัด : รูปพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างเหนือครุฑหลั่งน้ำทักษิโณฑก หมายถึง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบอังวะนั้น พระมหาอุปราชเมืองพม่า สั่งให้ทหารคู่ใจคอยตี ขนาบ และปลงพระชนม์เสียให้ได้ ความแตกรู้ถึงพระกรรณสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง จึงทรงประชุมชาวเมือง และบรรดาแม่ทัพนายกอง เมื่อเดือน 2 ปีวอก พ.ศ. 2127 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณฑกเหนือแผ่นดิน ประกาศอิสระภาพไม่ยอมขึ้นกับเมืองอังวะ อีกต่อไป     จังหวัดตากเป็นด่านแรกที่สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง ยกกองทัพกลับเข้ามาถึงราชอาณาจักรไทย เช่นเดียวกับที่เมืองนี้เคยเป็นทางผ่าน ที่ชาวอินเดียเดินทางเข้าเมืองไทยในสมัยโบราณ

ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกเสี้ยวดอกขาว (Bauhinia sp.) 

ดอกไม้ประจำจังหวัดตาก

ดอกไม้ประจำจังหวัด ตาก, น่าน
ชื่อดอกไม้ ดอกเสี้ยวดอกขาว
ชื่อสามัญ Orchid Tree, Purple Bauhinia
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia variegata L.
วงศ์ LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น เสี้ยวป่าดอกขาว
ลักษณะทั่วไป ต้นสูง 5–10 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดกลม ใบเดี่ยวค่อนข้างกลม ปลายและโคนใบเว้า คล้ายใบแฝดติดกัน ใต้ใบมีขน ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายกิ่ง 6–10 ดอก มี 5 กลีบคล้ายดอกกล้ายไม้มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตลอดปี ดอกดกช่วง เดือนพฤศจิกายน–มีนาคม ผลเป็นฝักแบน เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม เติบโตได้ดีในดินที่ระบายน้ำดี ความชื้นสูง แสงแดดจัด
ถิ่นกำเนิด อินเดีย, มาเลเซีย

 

ต้นไม้ประจำจังหวัด: แดง (Xylia kerrii)

ต้นไม้ประจำจังหวัดตาก

ต้นไม้ประจำจังหวัด ตาก
ชื่อพันธุ์ไม้ แดง
ชื่อสามัญ Iron Wood
ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylia sylocarpa Var. kerrii (Craib & Hutch.) I. Nielsen
วงศ์ LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น กร้อม (ชาวบน-นครราชศรีมา), ไคว (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), คว้าย (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่, กาญจนบุรี), ไคว เพร่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), จะลาน จาลาน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), แดง (ทั่วไป), ตะกร้อม (ชอง-จันทบุรี), ปราน (ส่วย-สุรินทร์) ไปรน์ (ศรีษะเกษ), ผ้าน (ละว้า-เชียงใหม่), เพ้ย (กะเหรี่ยง-ตาก), สะกรอม (เขมร-จันทบุรี)
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น สูง 15–30 เมตร กิ่งก้านและยอดอ่อนมีขนละเอียดสีเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ประกอบด้วย 2 ช่อ ใบแตกออกเป็น 2 ง่าม ใบย่อย 4–5 คู่รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อทรงกลมคล้ายดอกกระถิน ที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผล เป็นฝักรูปไต แบน แข็ง
ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม สภาพดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ต้องการแสงแดด
ถิ่นกำเนิด เป็นไม้หลักของป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งทั่วๆ ไป

 

ที่มา : จังหวัดตาก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ