X

เร่งดันเทคโนโลยีเพื่อกระบวนการยุติธรรม

ผู้อำนวยการ TIJ, ประธานศาลฎีกา และศาสตราจารย์จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมปาฐกถาถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรมในสังคมไทยและสังคมโลก ชี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนทัศนคติ เรียนรู้และพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำงานเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน เพื่ออุดช่องโหว่ลดอาชญากรรมไซเบอร์และสร้างความยุติธรรม

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) ร่วมกับสถาบัน Institute for Global Law and Policy – IGLP แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) จัดเวทีสาธารณะระดับนานาชาติที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรม” ร่วมหาคำตอบ และสำรวจความก้าวหน้าและอนาคตของความยุติธรรมในระดับสากล

มีปาฐกถาพิเศษจาก ศาสตราจารย์พิเศษ จากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา และ Ms.Sheila Jansanoff ศาสตราจารย์จาก Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ได้กล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้ พร้อมกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและหลักนิติธรรมว่า การผสมผสานระกว่าง 2 สิ่งนี้ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยการเปิดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ขึ้น เนื่องจากมีจุดประสงค์เปิดโอกาสในการพูดคุยอย่างเป็นสาธารณะ ทำให้เรื่องของหลักนิติธรรมไม่อยู่แค่ในวงการกฎหมาย แต่มีความเสมอภาคกับทุกคน เพราะไม่ว่าจะเป็นคนออกกฎหมายหรือคนทั่วไปก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งการเปิดโอกาสให้คนมีส่วนเข้าถึงในกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่มีดุลยพินิจในการร่างกฎหมายจะต้องมีอิสระ เที่ยงธรรมและต้องตรวจสอบได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้หลักนิติธรรมเกิดประโยชน์ได้

หากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับความเชื่อถือก็จะสร้างความไม่สงบ ซึ่งการมีข้อกฎหมายที่แน่นอน ชัดเจนจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้ดี การปราบปรามคอรัปชั่นจะส่งผลให้งบประมาณตกสู่กลุ่มที่ต้องการแท้จริงเพราะฉะนั้น ถ้าทำให้คนที่ไม่ใช่คนเป็นนักกฎหมายเห็นความสำคัญตรงนี้ จะช่วยผดุงกฎหมายไว้ได้ ในขณะที่นักกฎหมายเมื่อเข้าใจปัญหาสังคม บริบทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงความละเอียดอ่อนที่เกิดขึ้นและสร้างกลไกทางกฎหมายที่เกิดประโยชน์แก่ทุกคนได้อย่างแท้จริง

“หลักนิติธรรมเป็นหัวใจในการขีดเส้นความสมดุลนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างยั่งยืน โดยมีหลักประกันว่าจะต้องไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง” ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

นายชีพ จุลมนต์
นายชีพ จุลมนต์

ด้าน นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีและการปฏิรูประบบนิติธรรม ว่า เป็นโจทย์ที่มีความท้าทายจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพล ส่งผลต่อการติดต่อสื่อสารและด้านเศรษฐกิจ

จากสถิติชี้ว่าในปี 2560 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน ขณะที่ในปี 2556 ใช้ประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวันโดยส่วนใหญ่จะใช้บริการอินเทอร์เน็ตในการเข้าสังคมออนไลน์ ซื้อสินค้า และหาข้อมูล

ปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าหน้า และเริ่มมีระบบใหม่ ๆ เช่น Blockchain (บล็อกเชน) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความโปร่งใส แม่นยำ โดยหลายประเทศไทยมีการนำบล็อกเชนไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การทำสัญญาอัจฉริยะหรือสมาร์ทคอนแทรค พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น สำนักค่าหลวงใหญ่บันทึกตัวตนของผู้ลี้ภัย เกาหลีใช้ในการเลือกตั้ง สิงคโปร์ใช้ในการจัดซื้อของภาครัฐ สำหรับประเทศไทยใช้ติดตามอาชีพที่มีความเสี่ยง เช่น การประมง ฯลฯ

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์มีส่วนในการปลอมแปลง ขโมยอัตลักษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล การซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย การฟอกเงิน การสนับสนุนองค์กรก่อการร้าย ซึ่งจากการประเมินมูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วโลกประมาณ 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจมีอาชญากรรมไซเบอร์จำนวนมากที่ยังไม่มีการรายงาน

นอกจากนี้ยังควรเร่งพัฒนากระบวนการยุติทั้งระบบ ทั้งความรู้ของบุคลากรเฉพาะทาง ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ฯลฯ เพื่อให้ก้าวทันยุคดิจิทัล รวมถึงการสร้างกลไกทางยุติกรรมที่เหมาะกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฎหมายในการทำธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์​ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีกฎหมาย เรื่องคริปโตเคอเรนซีขึ้นในไทย ซึ่งที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนและของรัฐในเวลาเดียวกัน

ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมได้เริ่มใช้เทคโนโลยีในด้านกฎหมาย เช่น

  • การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในติดตามควบคุมในการเดินทางของผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว ลดการแออัดในเรือนจำ และลดการทำงานของเจ้าหน้าที่
  • มีระบบการแปลภาษาร่วมร้อยภาษา เพื่อให้การสืบพยาน รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายผู้เชี่ยวชาญ และล่าม ทำให้ประชาชนที่มีคดีเข้าถึงกระบวนการได้ง่ายมากขึ้น
  • การลงโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นระบบกลางนัดไต่สวน แทนการประกาศทางหนังสือพิมพ์ ทำให้คู่ความไม่เสียค่าใช่จ่าย และลดขั้นตอนการทำงาน สามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่าย และมีความปลอดภัย

นอกจากนี้ นายชีพ เน้นย้ำว่า เทคโนโลยีมีทั้งโทษและประโยชน์ ฉะนั้นจึงต้องเริ่มจากการสร้างวิธีคิดที่สอดคล้องและเหมาะสม การปรับทัศนคติของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมาย ที่จะช่วยให้ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาอาชญากรรมให้ทันท่วงที การเปลี่ยนแปลงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงลำพังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และอาชญากรรม ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ไม่ปล่อยให้อาชญากรมาใช้โอกาสกับกฎหมายที่หละหลวม

สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความสมดุลระหว่างหลักนิติธรรมกับเทคโนโลยีคือเปิดใจ และประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่เฉียบแหลมและฉับไว ทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

“เพราะอาชญากรทำงานเป็นเครือข่าย และใช้เทคโนโลยี เจ้าหน้าที่จึงต้องทำงานเป็นเครือข่ายและเท่าทันเทคโนโลยีเช่นกัน ที่สำคัญจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติจริงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน นำไปสู่การสร้างมุมมองและทัศนคติที่เหมาะสมต่อไป” นายชีพ กล่าว

Ms.Sheila Jansanoff
Ms.Sheila Jansanoff

Ms.Sheila Jansanoff ศาสตราจารย์จาก Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีและกฎหมายว่า

“เราจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ถ้าเราต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีจะเป็นอุปสรรคต่อกฎหมาย เราต้องสร้างโมเดลใหม่ และสร้างใหม่อีกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไป”

Ms.Sheila มองว่า กฎหมายไม่ได้ล้าหลังเทคโนโลยี เพราะทั้งสองสิ่งมาพร้อม ๆ กัน และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ที่ผ่านมา กฎหมายมีหน้าที่คุ้มครองคุณค่าของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนเทคโนโลยี ซึ่งไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปสักเท่าใด กฎหมายก็ยังให้ความสำคัญหรือคุ้มครองกับความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ของมนุษย์

โดยยกตัวอย่างเรื่องการจดสิทธิบัตรที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคาดหวังของสังคม กรณี การขอจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตและพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

เช่น การขอจดสิทธิบัตรหนูที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรมขึ้นมาให้เป็นมะเร็งเพื่อทดสอบยารักษามะเร็ง โดยศาลฎีกาของแคนนาดามองว่าสิ่งมีชีวิตไม่สามารถมองเป็นทรัพย์สินได้ และการแทรกแซงทางพันธุกรรมของหนู ไม่ได้เป็นผลผลิตของมนุษย์ และไม่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ในทางเดียวกัน เคยมีผู้ที่ศึกษาวิจัยเรื่องการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้หญิง โดยมีการแยกยีนส์มะเร็งไปจดสิทธิบัตร ซึ่งมีความคิดเห็นที่หลากหลายต่อเรื่องนี้ กระทั่งมีองค์กรหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการจดสิทธิบัตรยีนส์มะเร็งของมนุษย์และนำขึ้นฟ้องศาล ด้วยเหตุผลที่ว่าการแยกยีนส์ออกมาจากยีนส์อื่น ๆ ไม่ใช่การค้นพบหรือประดิษฐ์อะไรใหม่ ซึ่งศาลตัดสินตามคำฟ้องว่าไม่สามารถจดสิทธิบัตรของยีนส์มนุษย์ได้

จาก 2 เรื่องนี้ เป็นบทเรียนที่สะท้อนว่าคนที่คิดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ถูกต้อง สามารถใช้กฎหมายในการขัดขวางสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้องได้ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปขนาดไหนก็ตาม

นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ในกฎหมายของสหรัฐฯ ที่รัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึงคือมีเรื่องสิทธิของประชาชนที่มีความปลอดภัยจากการถูกค้นหรือถูกยึดสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนตัว เช่น ประเด็นที่มีการถกเถียงเมื่อรายการทีวีหนึ่งนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนชุดในตู้โทรศัพท์ ว่าควรจะได้รับความเป็นส่วนตัวหรือไม่

จากเดิมกฎหมายมีการระบุว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในที่ส่วนตัวสามารถดักฟังได้ แต่ในกรณีการเข้าไปใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะ ศาลมีการตัดสินที่เกือบเป็นเอกฉันท์ว่าต้องมีหมายค้น เนื่องจากบุคคลจะรู้สึกว่าเป็นส่วนตัวในตู้โทรศัพท์ จึงไม่ใช่ที่สาธารณะ สะท้อนว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความคาดหวังของบุคคลในสังคม

คล้ายคลึงกับในปัจจุบัน ที่มีการใช้ GPS อย่างแพร่หลาย แต่ศาลฎีการะบุว่าการใช้ GPS ติดตามบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อติดตามว่าทำความเป็นหรือไม่นั้น ไม่สามารถทำได้เพราะยังถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ถ้าหากเรื่องเหล่านี้ถูกกฎหมายจะทำให้ตำรวจหรือรัฐบาลสามารถติด GPS ติดตามชีวิตของประชาชนได้ ทั้งหมด ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

เช่นเดียวกับ การตรวจสอบโทรศัพท์มือถือที่จำเป็นต้องมีการขออนุญาตก่อนเพราะเป็นอุปกรณ์ ที่มีความสำคัญต่อการใช้ขีวิตประหนึ่งอวัยวะหนึ่งของร่างกายไปแล้ว ฉะนั้นการดูโทรศัพท์มือถือจึงเปรียบเสมือนการเข้าไปดูในความคิดของบุคคลนั้น ๆ ด้วย

เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า เรื่องกฎหมายกับเทคโนโลยีมีความเชื่อมโยงกัน กฎหมายเข้ามาชะลอการใช้เทคโนโลยีที่เกินเลยซึ่งเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

Ms.Sheila กล่าวว่า ในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากขึ้น มีความเป็นสากลมากขึ้น ฉะนั้นจะต้องตัดสินใจว่าเราจะอยู่ร่วมกันในโลกนี้อย่างนี้อย่างไร 3 ประการหลัก ได้แก่

  1. หาวิธีอยู่ร่วมกัน ทำอย่างที่ประเทศเคยทำ และยอมรับสิ่งที่ประเทศอื่นทำได้
  2. การอยู่ร่วมกันอย่างมีความเคารพซึ่งกันและกัน ว่ามีการเป็นอยู่หลายแบบ เข้าใจ และเข้าไปพูดคุยถึงวิธีของกันและกัน หรือกำหนดทิศทางว่าใครควรปฏิบัติตามใคร
  3. ตัดสินใจร่วมกันว่ามีบรรทัดฐานใดร่วมกัน

“กระบวนการยุติทำไม่ใช่แค่จะจัดการเทคโนโลยีอย่างไร แต่ต้องคำนึงว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ท่ามกลางความหลากหลาย” Ms.Sheila กล่าวทิ้งท้าย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ