X

นักวิชาการชี้ รัฐบาลชุดใหม่ต้องปลดล็อกองค์กรส่วนท้องถิ่น สู่การพัฒนาประเทศ

เสวนา “ทศวรรษหน้า ท้องถิ่นไทย” พูดคุยแนวทางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมแนะรัฐบาลชุดใหม่ ต้องปลดล็อกกฎหมายท้องถิ่น คืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ 

พรรคประชาธิปัตย์จัดงานเสวนาลดอำนาจรัฐ  เพิ่มอำนาจประชาชน ระดมนักวิชาการและผู้บริหารส่วนท้องถิ่นร่วมพูดคุยถึงแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นในไทยทศวรรษหน้า โรงแรมเดอะสุโกศล (สยามซิตี้)  ถนนศรีอยุธยา โดยมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และประชาชนที่สนใจเข้าร่วม

รศ.ดร.วีระศักดิ์  เครือเทพ
รศ.ดร.วีระศักดิ์  เครือเทพ

รศ.ดร.วีระศักดิ์  เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินงานเสวนา “ทศวรรษหน้า ท้องถิ่นไทย” ในครั้งนี้กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลหลายแหล่งพบว่าคนกลุ่มฐานรากถึง 70% มั่นใจในความสามารถขององค์กรส่วนท้องถิ่น และเชื่อมั่นในการทำงานว่าสามารถฝากชีวิตได้ เนื่องจากองค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นด่านแรกที่ประชาชนจะนึกถึงเมื่อเกิดปัญหา เพราะมีระบบดูแล ช่วยเหลือประชาชน และเคยได้รับความช่วยเหลือทางสาธารณะต่าง ๆ

โดยจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าท้องถิ่นทั่วไป 70-80% สามารถทำงานได้ดีตามตัวชี้วัด ซึ่งสนับสนุนว่า องค์กรส่วนท้องถิ่นสามารถช่วยออกแบบกลไกของสังคม และเหมาะสมที่จะกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศไทย ดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน

ท้องถิ่นไม่ใช่คู่แข่งรัฐบาล

สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ คือรัฐบาลต้องไม่มองว่าท้องถิ่นเป็นคู่แข่ง

ที่ผ่านมาเมื่อท้องถิ่นช่วยเหลือประชาชนหรือกิจกรรมต่าง ๆ มักจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ว่าไม่มีอำนาจ แต่เมื่อถามถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปดูแลอย่างจริงจัง ทำให้เป็นปัญหาในระบบการจัดการ รวมถึงปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน

เช่น ในกรณีการวิ่งรถฉุกเฉิน ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการวิ่งรถฉุกเฉินได้ ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน พบว่าสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินให้คำตอบว่าสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเพียงหน่วยงานเดียว ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งบุคลากรและระยะทาง ที่ผ่านมามีกรณีในลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้น แต่สุดท้ายมักจบลงด้วยการไม่แก้ไขสิ่งใดเลย

ซึ่งสะท้อนว่า การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่สามารถแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นได้ทุกเรื่อง ในทางเดียวกันการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ไม่ใช่การปัญหาการทุจริตในท้องถิ่น และบางครั้งเป็นการสร้างปัญหาการทุจริตในส่วนกลางต่อไปอีกด้วย

อาจารย์จรัส สุวรรณมาลา
อาจารย์จรัส สุวรรณมาลา

ด้าน อาจารย์จรัส สุวรรณมาลา นักวิชาการ มองว่าการกระจายอำนาจมีความสำคัญอย่างมากแต่ยังไม่มีระบบที่เหมาะสม โดยสิ่งที่ต้องติดตามต่อคือการร่างกฎหมายท้องถิ่น ที่ต้องยกร่างใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นสภาขุนนาง แม้จะเขียนกฎหมายกระจายอำนาจไปก็จะถูกแก้หมด เพราะไม่อยากให้มีการกระจายอำนาจเกิดขึ้น

ต้องปลดล็อกกฎหมายท้องถิ่น

อาจารย์จรัส มองว่า กฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดีจะต้องไม่เขียนกรอบกำหนด ต้องมีการปลดล็อกให้เกิดการกระจายอำนาจที่แท้จริง ทั้งนี้ ภายใต้การปลดล็อกจะต้องมีการเขียนหน้าที่พื้นฐานที่ท้องถิ่นต้องทำไว้อย่างเข้มงวด ชัดเจน เช่น การจัดการขยะ ถนน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีการปลดล็อกจะต้องจัดระบบความสัมพันธ์ ทำให้ไม่มีโอกาสทำงานซ้ำซ้อนกัน ระหว่าง อบจ. กับ อบต. โดยจะต้องร่างกลไกการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ซึ่งการจัดระบบที่ชัดเจน จะช่วยประหยัดงบประมาณในการทำงานมากขึ้นด้วย

ที่ผ่านมา จากการเข้าตรวจสอบประเมินงบประมาณในองค์กรส่วนท้องถิ่น พบว่าการใช้งบประมาณไม่มีการบูรณาการ แม้จะมีลักษณะการบริหารที่ดูเชื่อมโยงกัน แต่ไส้ในไม่ได้ผลสำเร็จ เพราะใช้โครงสร้างเดียวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งแตกต่างจากการบริหารแบบท้องถิ่น

อาจารย์จรัส เผยว่า “เห็นด้วยกับการออกกฎหมายแยกการบริหารส่วนจังหวัด ออกมาจากส่วนราชการ เพราะส่วนราชการมีการปฏิบัติงานตามขั้นหน้าที่ ก ข ค ง การตัดสินใจจะทำตามกระบวนการที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น”

อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้มีการปลดล็อก จะเป็นการให้อำนาจท้องถิ่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกอย่างตามความเหมาะสม แต่จะมียกเว้นบางเรื่องที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าไม่สามารถทำได้

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ ต่อมาคือ การยกร่างกฎหมายระเบียบกระทรวงการคลัง โดยรัฐจะต้องมีการทำ Consolidated financial statement ให้ท้องถิ่นมีเสรีภาพในการจัดทำนโยบายได้กว้างขวาง

อีกหนึ่งส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ คือเรื่องของข้อกฎหมายที่ยังพบว่ามีข้อกฎหมายบางข้อที่ขัดแย้งกัน ซึ่งทำให้เดินหน้าไปได้ยาก

อาทิ กฎหมายการคลังบางมาตราเขียนไว้ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 250 ระบุไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ของตัวเองโดยจัดระบบภาษี หรือจัดสรรภาษีที่เหมาะสม เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่

แต่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ในมาตรา 64 กลับระบุว่า ท้องถิ่นต้องจัดเก็บรายได้ให้พอเพียงต่อการจัดการบริการสาธารณะ ที่เหมือนเป็นการผลักภาระให้ท้องถิ่นไปหาเงินเอง ซึ่งมีทิศทางต่างจากในรัฐธรรมนูญ

ซึ่งกรณีนี้ เมื่อมีสภาแล้ว หากข้อกฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่จะต้องมีการทบทวน แก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดการตีความผิดความหมาย

นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว จะรัฐจะต้องให้ความสำคัญกับ การบริหารบุคคล ต้องปฏิรูปบุคลากรให้สามารถทำงานได้อย่างอิสระ ที่ผ่านมามีข้อครหาว่าส่วนภูมิภาคมีการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวมาก ซึ่งมีผลมาจากระบบการบริหารจัดการ สะท้อนจากการที่เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นถูกกลั่นแกล้ง

“หากกฎหมายแผนการกระจายอำนาจเขียนได้ดีจะทำให้สามารถเดินหน้าไปได้ยาว 5-10 ปี แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่สามารถทำได้จริง เพราะเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องออกแบบกฎหมายฉบับนี้ใหม่” อาจารย์จรัส กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ