X
นายธานินทร์ ทิมทอง

ผู้เชี่ยวชาญชี้การศึกษาแบบบูรณาการ เสริมทักษะเด็กมากกว่าตำรา

นายธานินทร์ ทิมทอง ผู้ก่อตั้ง Learn Education ย้ำการศึกษาแบบบูรณาการช่วยเสริมทักษะเด็กได้มากกว่าในตำรา ชี้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการดึงศักยภาพนักเรียนออกมาเช่นกัน

บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จัดงาน PTT Group SE Forum 2018 ครั้งที่ 1 ภายในงานมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Social Business for the Better Future ” โดยมีนายธานินทร์ ทิมทอง ผู้ก่อตั้ง Learn Education เป็นผู้บรรยาย

นายธานินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์การศึกษาในประเทศไทยในปัจจุบันมีภาษาที่มีการใช้งานอยู่ทั้งหมดกว่า 70 ภาษากระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่มีภาษาไทยกลางเป็นภาษาเดียวที่ใช้กันอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้มี 15 ภาษากำลังจะหายไปจากประเทศไทยแล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือภาษาของชาว อูลักกาโวย ซึ่งเป็นกลุ่มชาวประมงของไทย

ขณะเดียวกันสิ่งที่กำลังหายไปคือภาษา แต่ว่าสิ่งที่ยังคงอยู่ของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้คือวัฒนธรรมและประเพณี สำหรับประเพณีที่ยังคงอยู่มาอย่างช้านานของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้คือประเพณีการฉุด พูดกันเป็นภาษาชาวบ้านคือผู้ชายฉุดผู้หญิงไปเป็นภรรยาโดยไม่ได้เกิดความยินยอมจากฝ่ายหญิง เป็นปัญหาที่เกิดมาจากการได้รับการศึกษาน้อย

สาเหตุที่ทำให้ประเพณีนี้ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะหลังการฉุด ฝ่ายชายจะนำเงินมามอบให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเพื่อเป็นค่าทำขวัญ และสิ่งที่แปลกคือพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็มักจะยินดีรับเงินไว้เสมอโดยไม่เอาผิดฝ่ายชายเลย ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันผู้หญิงที่ถูกฉุดมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งน้อยที่สุดอยู่ที่ 12 ปี จากสถิติที่เก็บได้โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ได้ยินยอมด้วย

ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ด้วยเช่นกัน เราจึงได้เริ่มทำโครงการที่มีชื่อว่า Challenge in Thailand Education ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาในการศึกษาอยู่มาก โดยปัจจุบันมีความขาดแคลนครูผู้สอนกว่า 7 หมื่นอัตรา

ซึ่งสิ่งสำคัญในการศึกษาในยุคนี้ก็ยังคงเป็นครู ถึงแม้หลายฝ่ายจะมองว่าเทคโนโลยีอาจสำคัญกว่าคุณครูก็ตาม ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือเราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือครูให้สามารถทำการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งทางเราได้ทำโครงการนำร่องกับโรงเรียนสหวิทย์ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ถูกมองว่าเด็กไม่เก่ง อันดับท้าย ๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี

โดยโครงการได้เข้าไปเน้นให้โรงเรียนมีการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ทำให้ผ่านไป 3 ปี หลังจากทำโครงการ โรงเรียน  สหวิทย์ กลายเป็นโรงเรียนที่มีคะแนน O-Net สูงที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งทาง Learn Education ได้นำเอาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมาปรับเปลี่ยนให้ผู้เรียนสนุกไปกับการเรียนรู้ และปรับบทบาทให้คุณครูกลายเป็นเพื่อนของนักเรียน

และได้มีการทำ Blenned Learning ผ่านเทคโนโลยี ซึ่งจะมีระบบให้คุณครูในห้องเรียนสามารถจัดการนักเรียนได้แบบวันต่อวัน เพราะจะมีระบบประมวลผลทันทีว่าเด็กแต่ละคนมีความถนัดหรืออ่อนในเรื่องใด จะทำให้คุณครูสามารถเสริมทักษะที่เด็กยังต้องปรับปรุงได้ในทันทีทันใด ไม่ต้องรอสอบปลายภาคเสร็จถึงจะรู้ว่าใครเก่งอะไร

นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีกับเด็กมากกว่าต้องนั่งฟังครูสอนอย่างเดียว เพราะจะเป็นการสร้างกำลังใจให้กับเด็กว่าตัวเองก็สามารถทำได้ และเด็กจะเกิดความอยากเรียนรู้ต่อ ยอดเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีการจัดชุดกิจกรรมสำหรับนำมาประกอบการเรียนเพื่อให้เด็กๆ คิดว่าสิ่งที่กำลังเรียนสามารถนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะทำให้เด็กๆเกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือเด็กเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นมีความมั่นใจ และอยากเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่คุณครูเปลี่ยนบทบาทไม่ใช่แค่ผู้สอนอย่างเดียว

ทำให้เด็กเกิดความไว้ใจ และอยากจะมาเรียนมากขึ้นอีกด้วย โดยปัจจุบันได้มี 150 โรงเรียนทั่วประเทศทั้งระบบรัฐบาล และเอกชน ใช้การเรียนรู้ของ Learn Education เข้าไปประยุกต์ในหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว และก็ได้ผลตอบรับที่ดีมาตลอด ซึ่งการทำโครงการดังกล่าวยังสามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่า

“เด็กที่อยู่ในเขตห่างไกล หรือเด็กในเมืองไม่ได้มีระดับความรู้ที่ห่างกันเลย เพียงแค่เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีจุดด้อยตรงไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง วันนี้เด็กเหล่านั้นได้โอกาสบ้างแล้ว และก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ด้อยกว่าเด็กในเมืองเลย จากคะแนนแอดมิชชั่นที่สูงกว่าเด็กในเมืองเสียด้วยซ้ำ” นายธานินทร์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ