X

ถอดลายดินเผาบ้านเชียง สู่ลวดลายบนอาหาร-ของใช้ เพิ่มรายได้SME

นักวิจัยไทย ศึกษาเอกลักษณ์ลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จ.อุดรธานี อัตลักษณ์ทางศิลปะวัฒนธรรม ถอดแบบออกมาสู่ลวดลายบนข้าวของเครื่องใช้หลากหลายรูปแบบ สร้างมูลค่าและลดช่องว่างทางเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ SME 

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018) เมื่อวันที่ 9-13 ส.ค.61 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ภายในงานรวบรวมงานวิจัยที่น่าสนใจจากทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่และผลักดันสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง หนึ่งในนั้นคืองานวิจัย “สัมพันธภาพระหว่างลวดลายประทับดินเผาบ้านเชียงกับลายมงคลสมัยนิยมสู่งานออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดอุดรธานี”

รศ.ดร.จิรารัตน์ อนันตกูล ผู้ประสาน SME สกว. เปิดเผยว่า “งานวิจัยนี้ เป็นงานที่สานความร่วมมือ มีการบูรณาการระหว่าง 3 สถาบัน ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเป็นงานวิจัยที่ส่งผลเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง”

เช่นเดียวกับ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้าที่เล็งเห็นว่า “งานนี้เป็นการบูรณาการงานข้ามศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้มีคุณค่าทั้งในเชิงศิลปะวัฒนธรรมและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ครอบคลุมมิติของการพัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างแท้จริง”

ด้าน ผศ.ดร.กนิษฐา เรืองวรรณศักดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ได้รับทุนวิจัยจากฝ่ายวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเผยถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า

บ้านเชียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการมีรูปแบบสินค้าของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญในการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความสนใจลูกกลิ้งและตราประทับดินเผาบ้านเชียงที่มีลวดลายสวยงามและเป็นโบราณวัตถุที่แสดงลักษณะเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี มาเชื่อมโยงไปสู่เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์แก่ชุมชนและการท่องเที่ยว

“เป็นความท้าทายของผู้วิจัยในการถอดลวดลายตราประทับดินเผาบ้านเชียงเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างลวดลายโบราณบ้านเชียง กับความหมายของลวดลายในเชิงมงคลสมัย เพื่อเพิ่มมูลราคาสินค้าของฝากจังหวัดอุดรธานีที่ตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค” ผศ.ดร.กนิษฐา กล่าว

โดยผู้วิจัยได้นำลวดลายจากเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง มาหาสัมพันธภาพเชิงความหมายระหว่างรูปลักษณ์ ลายเดิมบ้านเชียงเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับ ลายมงคลสมัย 5 ประเทศ คือประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินเดีย ประเทศอียิปต์ และประเทศลาว

จากการสัมภาษณ์ความต้องการของกลุ่มชุมชนสรุปได้ว่ามีลวดลายที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 5 ลาย ประกอบด้วย ลายขดก้นหอย, ลายงู, ลายพระอาทิตย์, ลายกระดองเต่า และลายคลื่น มาใช้ในการตกแต่งชิ้นงาน

ลายขดก้นหอย เป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนแสดงถึงความเป็นบ้านเชียงมีความหมายสมัยนิยมที่ว่าลวดลายแห่งความสุขความโชคดีตามความเชื่อของประเทศจีนและญี่ปุ่น ทั้งยังมีความมงคล สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของประเทศลาว

ลวดลายกระดองเต่า สื่อความหมายถึงอายุยืนความมั่นคงความยั่งยืนตามความเชื่อของประเทศจีนและญี่ปุ่น

ลายงู เป็นลวดลายที่มีความหมายว่า งูเป็นสัตว์มีพิษ คนจีนเชื่อว่าป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ตามความเชื่อของประเทศจีนส่วนประเทศญี่ปุ่นหนูมีชื่อเรียกในตระกูลภาษาอินโดยูโรเปียนที่เป็นภาษาที่ใช้ภูมิภาคว่า ‘นาคา’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกเดียวกับ ‘พญานาค’ เป็นสัตว์แห่งอำนาจความยิ่งใหญ่ความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของประเทศอินเดียและลาว นอกจากนี้งูยังเป็นตัวแทนของเทพเจ้า Apep เทพเจ้าแห่งความรู้และอาจรวมไปถึงสัญลักษณ์ของแผ่นดินโลกตามความเชื่อของประเทศอียิปต์อีกด้วย

ลายพระอาทิตย์ บ้านเชียงมีความหมายตามสมัยนิยมที่ว่าพลังชีวิตอำนาจตามความเชื่อของประเทศญี่ปุ่น หรือการสื่อถึงพลังงานชีวิตสัจธรรมแห่งความจริงตามความเชื่อของประเทศอินเดียและลาว รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มอบชีวิตและความโชคดีตามความเชื่อของประเทศอียิปต์

ลายคลื่น เป็นลวดลายบ้านเชียงที่มีความหมายตามสมัยนิยมที่ว่าความอ่อนน้อมความนิ่มนวลความก้าวหน้าสืบเนื่องเรื่อยไปตามความเชื่อของประเทศจีนญี่ปุ่นและลาว

ลวดลายประดับดินเผาบ้านเชียง : บูรณาการสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ได้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงกลุ่มชุมชนเป้าหมาย 12 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มอาหารประเภทขนม 3 กลุ่ม ได้แก่ ลวดลายแม่พิมพ์ปั๊มร้อน เบเกอรี่ แม่พิมพ์ขนมชั้นและเค้กวุ้น
  • กลุ่มจักสาน 3 กลุ่ม (ไผ่,คล้า,กก) ได้ลวดลายจักสานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑูปแบบต่างๆ เช่น เสื่อ กระเป๋า กระติบข้าว เบาะรองนั่ง
  • กลุ่มสิ่งทอ (มัดหมี่/หมี่ชิด) แปรรูปเป็นเครื่องแต่งกายสตรีและบุรุษ
  • กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา 3 กลุ่ม เทคนิคปั้น แกะ เขียนสี เป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่ง เช่น กระถางต้นไม้ กระดิ่งลม เครื่องประดับ

การคำนึงถึงเอกลักษณ์ลวดลายประดับดินเผาบ้านเชียงด้านการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาองค์ความรู้คุณค่าทางภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางศิลปะวัฒนธรรมหัตถกรรมและความหลากหลายของกลุ่มคน ช่วยสร้างมูลลค่าสู่การตลาด

เมื่อนำมาประยุกต์ในงานออกแบบให้เหมาะสมกับวัสดุภายในประเทศ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แก่กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนภายในพื้นที่ ที่สามารถนำไปต่อยอดและเพิ่มมูลค่าวัสดุท้องถิ่นให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยสร้างแนวทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวในการเลือกซื้อสินค้า ของฝาก ของที่ระลึกและส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้ในเวลาเดียวกัน

ด้วยกระบวนการบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการกระจายราย ผ่าน SME (กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ซึ่งมีสัดส่วนถึง 90% ในธุรกิจไทยทั้งหมด ที่ช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ สกว. มีทีมผลักดันการใช้ประโยชน์ที่เป็นหน่วยสนับสนุนนักวิจัย ในการที่จะทำให้ผลผลิตจากงานวิจัยไปถึงมือผู้ใช้ ไปสู่การใช้ประโยชน์ต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม

“ทาง สกว. มีช่องทางในการนำเสนอผลงาน แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง’ เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ ชุมชนสังคม สาธารณะ นโยบาย และวิชาการ เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในมิติต่างๆ ต่อไป” อ.ฉัตรฉวี คงดี หัวหน้าโครงการผลักดันผลผลิตการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ