X

วิศวกรชี้เขื่อนลาวแตกเพราะทรุด แนะเร่งตรวจเขื่อนขนาดกลาง-เล็กในไทย ป้องกันเหตุซ้ำรอย

วิศวกรมองกรณี เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 61 แตกเพราะเขื่อนทรุด แนะไทยควรให้การช่วยเหลือในฐานะเพื่อนบ้าน เตือนหน่วยงานรัฐเร่งตรวจสอบและดูแลเขื่อนขนาดกลาง-เล็กในไทย ป้องกันเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในลาว

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา “เขื่อนแตก เรื่องของลาว กับเรื่องของเรา” ที่รวบรวมนักวิชาการจากหลายแวดวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรม ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์น่าสลดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี

รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยข้อมูลเชิงเทคนิคในการสร้างเขื่อนที่ได้มาตรฐาน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า สภาพแวดล้อมแต่ละที่มีความเหมาะสมของการสร้างเขื่อนที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยที่แตกในครั้งนี้ มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน ซึ่งหมายถึงเขื่อนที่มีลักษณะของการสร้างเขื่อนบนชั้นดินหรือกรวดทรายที่มีความทึบน้ำได้ หรือหากมีวัสดุที่เหมาะสมสามารถเอาวัสดุมาสร้างตัวเขื่อนได้โดยไม่ต้องสร้างบนชั้นหินซึ่งจะใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม เขื่อนดินที่มีการออกแบบที่เหมาะสม จะแข็งแรงพอๆกับเขื่อนประเภทคอนกรีต

สำหรับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย มีลักษณะเป็น 2 เขื่อนใหญ่ และมีเขื่อนขนาดเล็กที่เป็นเขื่อนปิดช่องเขาอยู่ 5 เขื่อน หรือที่เรียกว่า Saddle DAM (A-E) ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า เขื่อนที่พังในครั้งนี้ไม่ใช่เขื่อนหลัก แต่เป็นเขื่อน Saddle DAM-D ซึ่งทำหน้าที่ปิดไม่ให้น้ำล้นสันเขื่อนป้องกันเขื่อนแตก 

เขื่อนที่แตกมีลักษณะเป็นเขื่อนเนื้อเดียว ถ้าปล่อยให้น้ำซึมผ่านโดยที่ไม่มีส่วนที่กรองน้ำ จะทำให้ดินไหลตามน้ำไป ตามทฤษฎีคือเมื่อมีน้ำซึมเข้ามาได้เยอะ หรือดินชุ่มน้ำมาก จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้เสถียรภาพมีค่าลดลง ปกติพยายามไม่ให้ดินเปียกน้ำมากจนเกินไป ซึ่งมีหลายวิธี

สาเหตุที่เขื่อนนี้เลือกใช้โครงสร้างแบบนี้ ส่วนตัวไม่ทราบเหตุที่แน่นอน รศ.ดร.ฐิรวัตร คาดว่าน่าจะเกิดจากที่สามารถหาดินชนิดนี้ได้เยอะในบริเวณโดยรอบและ การขนคอนกรีตเข้ามายังพื้นที่ค่อนข้างลำบากและต้องใช้จำนวนมาก

ทั้งนี้ ลักษณะความเสียหายของเขื่อนดิน ไม่มีใครเก่งที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่หลังจากที่เกิดไปแล้วเข้าใจ เช่น มีรอยฉีกตามแนวสันเขื่อน ตั้งฉากกับแกนเขื่อน หรือสไลด์ เกิดจากการบดอัดไม่ดี น้ำซึมผ่านบริเวณที่เป็นดินหลวม จะมีลักษณะเหมือนท่อระบายน้ำเล็กๆ ทำให้ดินไหลออกไปได้ ถ้าน้ำวิ่งลอดใต้ตัวเขื่อน ถ้าสร้างบนชั้นดินแล้วปรับปรุงสภาพให้ดี ไม่ได้บดอัดให้แน่น ก็อาจเกิดปัญหาเหล่านี้ได้

จากการรวบรวมข้อมูลตามเอกสารวิชาการ ในกรณีเขื่อนแตกที่ลาวครั้งนี้เรียกว่า การแตกตามแนวสันเขื่อน หนึ่งในหลายๆเหตุการณ์ที่สรุปไว้ เวลาออกแบบเขื่อนจะมีสถานการณ์ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ หนึ่งในนั้นคือ เวลาที่เติมน้ำเข้าไปในเขื่อนครั้งแรกของเขื่อน เป็นเวลาที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ค่อยๆเติมน้ำ มอนิเตอร์อาการของเขื่อน ถ้ามีท่าไม่ดีต้องค่อยๆเอาน้ำออกจากเขื่อนก่อนแล้วค่อยๆแก้ปัญหา

จากการลำดับเหตุการณ์ พบความเสียหายตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ทรุดตัว 11 เซนติเมตร ถัดมา 3 วัน ในวันที่ 23 ก.ค. พบว่ามีร่องรอยการทรุดตัวไปแล้ว 1 เมตรก่อนที่เขื่อนจะแตก ทำให้สันนิษฐานว่าเขื่อนไม่ได้แตกเพราะน้ำล้นสันเขื่อน แต่เกิดจากการทรุดตัวของเขื่อน สะท้อนว่าก่อนที่เหตุการณ์เขื่อนแตกจะเกิดขึ้นจะต้องรู้ตัวก่อน แต่อยู่ที่การบริการจัดการ และเลือกแก้ปัญหาอย่างไร 

ความเป็นไปได้ที่ทำให้เขื่อนแตก

  • กำลังของวัสดุไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสม ประเมินกำลังของวัสดุไม่ถูกต้อง อาจจะไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการทำตัวเขื่อนแต่พยายามนำมาใช้ 
  • การไหลซึมผ่านตัวเขื่อน ประเมินอัตราการไหลไม่ถูกต้อง ออกแบบโครงสร้างระบายน้ำไม่เหมาะสม
  • การไหลซึมผ่านใต้เขื่อน ประเมินสภาพทางธรณีวิทยาไม่ถูกต้อง
  • กำลังของชั้นดินใต้เขื่อนไม่เพียงพอ ฉีดอัดน้ำปูนไม่เพียงพอ
  • ปัจจัยอื่นๆที่เกิดจากความไม่แน่นอนนทางธรรมชาติ

วิธีจัดการความเสี่ยงของเขื่อน

ก่อนการก่อสร้าง : ต้องประเมินความเสี่ยง ความเสียหายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนกี่หมู่บ้าน วางแผนการแจ้งเตือนภัยและแผนปฏิบัติการ การอพยพ 

ระหว่างก่อสร้าง : ตรวจสอบคุณภาพการทำงาน การก่อนสร้างว่าผู้รับเหมาทำงานได้ตามสเปคที่ต้องการ โดยต้องมีการสังเกตุว่าตอนสร้างเขื่อนใหม่ๆนั้น เขื่อนมีพฤติกรรมที่จะสไลด์ออกด้านซ้ายหรือขวาหรือไม่ หากพบต้องรีบดำเนินการแก้ไข 

ระหว่างการใช้งาน : ต้องตรวจวัดพฤติกรรมของเขื่อน และบำรุงรักษาสภาพของเขื่อนให้อยู่ในสภาพปกติเสมอ 

เหตุการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังต่อจากนี้ คือเขื่อนปิดช่องเขาที่เหลือนอกจากเขื่อนที่แตกไปแล้วจะมีเสถียรภาพต่ำกว่าปกติ ที่อาจสร้างความเสียหายตามมา แม้ขณะนี้จะไม่มีน้ำในตัวเขื่อนแล้วซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแล้ว แต่ต้องมีการซ่อมแซมต่อไป

“หากเขื่อนออกแบบไว้เต็มรูปแบบ จะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ ถ้าทำได้ถูกต้องปัญหาใหญ่ๆจะไม่ค่อยเกิดขึ้น สามารถบริหารจัดการได้” รศ.ดร.ฐิรวัตร กล่าว

ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์

ด้าน ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยมุมมองด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยตั้งข้อสังเกตุว่า สาเหตุเขื่อนแตกประการแรกคือน้ำล้นสันเขื่อน อีกหนึ่งในสาม คือการทรุดตัวของเขื่อนอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศ การดีไซน์จะให้น้ำล้นที่ saddle dam ในกรณีน้ำมากซึ่งหากมีน้ำมาก จนเกิดกรณีน้ำล้นข้ามน่าจะทำทุกเขื่อนแตก 

เขื่อนขนาดเล็กและกลางในไทย

ผศ.ดร.อนุรักษ์ ชี้แจงว่า จากที่มีรายงานในหลายสื่อว่ามีน้ำกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรออกจากเขื่อนที่แตกนั้นไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากเขื่อนมีความจุเพียง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนตัวจึงมองว่าตัวเลข 500 ล้านลูกบาศก์เมตร น่าจะเป็นปริมาณจริงเนื่องจากอยู่ในตัวเลขที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับขนาดเขื่อนที่แตก

เมื่อนำสถานการณ์เขื่อนแตกในลาวครั้งนี้ ย้อนมองเขื่อนในประเทศไทย ผศ.ดร.อนุรักษ์ ให้ข้อมูลว่า ลักษณะของเขื่อนแบ่งตามความจุได้ 3 แบบ ได้แก่ 

  • เขื่อนขนาดใหญ่ความจุเก็บกัก 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
  • เขื่อนขนาดกลางสามารถจุได้ 1-100 ล้านลูกบาศก์เมตร 
  • เขื่อนขนาดเล็กคือต่ำกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 34 เขื่อน ผศ.ดร.อนุรักษ์ เผยว่า ส่วนตัวไม่ห่วงเขื่อนขนาดใหญ่แตกเหมือนในลาว แต่ห่วงเขื่อนขนาดกลาง 800 เขื่อน และเขื่อนขนาดเล็กอีกประมาณ 8,000 เขื่อน ที่มีการดูแลน้อย ทุกคนไปดูแลที่เขื่อนใหญ่ รัฐ กรมชล กรมน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไม่ได้มีกำลังคนที่ไปดูแลเขื่อนขนาดกลาง ซึ่งมีรายงานเริ่มมีการรั่วซึมของเขื่อนมากขึ้น 

“ฝากถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดูแลอย่างไร ที่น่าห่วงที่สุดคือเขื่อนขนาดเล็ก ถูกโอนจากกรมชลประทานให้อยู่ในการดูแลของ อบต. คำถามคือ อบต. ดูแลได้หรือไม่ การโอนย้ายไปหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ไม่แน่ใจเรื่องการดูแล จะมีหน่วนยงานรัฐไหนไปซ่อมแซม หรือแก้ปัญหา”

ส่วนประเด็นที่ว่าควรจะมีการสร้างเขื่อนอีกหรือไม่ ผศ.ดร.อนุรักษ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยเขื่อนหน้าที่ไว้เก็บน้ำ ช่วยป้องกันเรื่องน้ำท่วม 5-10% มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเรื่องรอง

แต่เขื่อนในประเทศไทยเน้นเรื่องการกักเก็บน้ำใช้ในหน้าแล้ง ที่ไทยจะเจอแล้งสลับกับน้ำท่วม ข้อมูลย้อนหลังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆในทุกๆ 6 ปี แต่ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมักมองปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ว่า น้ำท่วม แต่อย่าลืมนึกถึงปัญหาอีกซีกหนึ่งคือปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าปัญหาน้ำท่วม

“สิ่งที่อยากจะฝากหน่วยงานภาครัฐ คือการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลระยะยาว เช่น 30 ปีขึ้นไป ทั้งประเทศและเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาข้อมูลลักษณะนี้หายากมาก ซึ่งเก็บแค่ 1-2 ปี ในส่วนของงานวิจัย ภาครัฐควรเก็บข้อมูลและให้คนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้” ผศ.ดร.อนุรักษ์ กล่าว

รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี

เขื่อนลาวแตก กระทบด้านพลังงานไทยน้อย

รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ เผยว่าเหตุการณ์เขื่อนแตกในลาวครั้งนี้เกิดผลกระทบต่อไทยว่า

“เหตุเขื่อนแตกที่ลาว ส่งผลกระทบกับไทยมากแค่ไหน กล่าวในภาพรวมว่ามีน้อยมาก เนื่องจากสัดส่วนพลังงานสำรองสูงและไม่ได้นำเข้าจขากลาวเป็นเชื้อเพลิงหลัก แต่มีต้นทุนค่าไฟฟ้า FT สะท้อนที่ต้องจ่ายกันอาจจะเพิ่มขึ้น เพราะพลังงานราคาถูกอาจล่าช้ากว่าเดิม”

โดยสาเหตุที่ไทย นำเข้าไฟฟ้าจากลาวเนื่องจากว่ารัฐฯต้องการกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง ไม่พึ่งพาแก๊สมากเกินไป อีกประการหนึ่งคือไทยสามารถซื้อไฟฟ้าในลาวได้ถูกที่สุดคือ 2.41 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่นๆ พร้อมทั้งมี MOU พัฒนาโรงไฟฟ้าในลาว 

ปัจจุบัน ไทยนำเข้าไฟฟ้า 8% โดยนำเข้าจากลาวทั้งหมด 3,378 MW จากพลังงานน้ำ 2,105 MW และถ่านหิน 1,473 MW 

สถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว คาดว่าเซเปียน-เซน้ำน้อยจะเสร็จและจะสามารถจ่ายไฟเข้าระบบปี ก.พ. 62 ซึ่งเหตุการณ์เขื่อนแตกในครั้งนี้ เมื่อเทียบจากความต้องการใช้ไฟฟ้า มีผลกระทบทางเทคนิคน้อยมาก เนื่องจากมีเขื่อนอีกๆเข้ามาอีกในเดือนอื่นๆปี 2562 มีศักยภาพที่อาจจะเพิ่มขั้นอีก 4,088 MW แต่ยังไม่มีการผูกมัด

ส่วนมุมมองด้านความมั่นคงของพลังงานไทย ปัจจุบันถึงปี 2579 จะมีพลังงานน้ำอยู่ 15% ในประเทศลาว ถ้ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ประเทศก็มีพลังงานไฟฟ้าสำรองอยู่ พอๆกับความต้องการใช้ คาดว่าส่งผลกระทบไม่มาก

แม้จะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันไทยมีพลังงานตุนไว้มากเกินไปหรือไม่ อาจตอบได้ว่าจริง ทั้งนั้นการมีพลังงานไฟฟ้าสำรอง 30% ในปัจจุบัน ทำให้โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับเป็น 0% ซึ่งหลังจากปี 2570 โอกาสเกิดไฟฟ้าดับจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกำลังการผลิตที่ต่ำลงด้วยเช่นกัน

นายอดิศร เสมแย้ม

ส่วน นายอดิศร เสมแย้ม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศลาว สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวในมิติต่างๆ หลังจากเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกในครั้งนี้ว่า ไทยกับลาวมีความสัมพันธ์กัน เริ่มจากปี 2538-2541 นับตั้งแต่ลาวมี “นโยบายแบตเตอรี่ออฟเอเชีย”  คือเน้นขายกระแสไฟฟ้า

ซึ่งการขายกระแสไฟฟ้าให้ไทย ต้องผ่านระบบสายส่งซึ่งมีความใกล้ชิด โดยเริ่มเห็นผลชัดในปีนี้ว่า ความสัมพันธ์นี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนโยบายขายกระแสไฟฟ้าของลาว ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจของลาวถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยมีการเชื่อมโยงกับลาวอยู่เสมอ ทำให้ “ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจของไทยและลาว เป็นเสมือนเป็นลมหายใจของกันและกัน”

ลาวไม่เปลี่ยนเป้ามุ่งเป็น ​“แบตเตอรี่ของอาเซียน” 

เหตุการณ์ในครั้งนี้จะทำให้มุมมองของชาวลาวเปลี่ยนไป คนลาวจะเริ่มคิดและทบทวนอะไรบางอย่างมากขึ้นของธรรมชาติและเขื่อน ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของโชคชะตา อาจมองถึงการลงทุนของต่างชาติหรืออะไรต่างๆ เมนชั่นคนจะเริ่มเปลี่ยน และจะเริ่มมีความโปร่งใสในการทำงานเกิดขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีก ทั้งยั้งมองว่าลาวไม่เปลี่ยนเป้าหมายที่จะเป็นหม้อไฟของอาเซียนเพราะมีผลต่อเศรษฐกิจของลาวมาก

ทั้งนี้ เหตุที่เกิดขึ้นยังทำให้รัฐบาลลาว ต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนค่อนข้างมาก และมองว่าจะไม่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่อาจะมีปัญหาระหว่างรัฐกับประชาชนเกิดขึ้นได้ 

การรับความช่วยเหลือของลาว

แพทย์ทหารจีนเข้าไปช่วยเหลือได้ แต่ของไทยเข้าไปไม่ได้ ส่วนตัวมองว่าลาวเองอาจจะค่อนข้างที่จะอึดอัด ปกติลาวเองไม่ค่อยเปิดโอกาสในการช่วยเหลือ จีนเข้าไปลงทุนเรื่องเขื่อนในลาวมาก และจีนเองให้ความช่วยเหลือต่างจากทางตะวันตกทำให้ได้รับอนุญาตในการเข้าช่วยเหลือ

โดยส่วนตัว นายอดิศร มองว่า ในครั้งนี้ลาวเปิดกว้างแล้ว ผู้เข้าไปให้การช่วยเหลือ ควรใช้พาสสปอร์ตและทำไปตามระเบียบ เนื่องจากรัฐบาลของลาวเพิ่งเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ คล้ายกันไทยที่เจอกับสึนามิในครั้งแรก ทำให้การบริหารจัดการ การแจ้งเตือน ขั้นตอนการดำเนินงาน อาจบกพร่อง ที่สำคัญคือประเทศที่เป็นสังคมนิยมค่อนข้างแตกต่างจากไทย ต้องมีความเข้าใจในจุดนี้ด้วยเช่นกัน

อาเซียนประสบความสำเร็จในเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย ความงดงามในการช่วยเหลือที่ไม่มีพรมแดนที่เกิดขึ้นในภาคประชาชน อาจมีส่วนอื่นที่จะพัฒนาขึ้นมาในอนาคตซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี

ไทยควรเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือด้านเกษตรและภาวะซึมเศร้า

สิ่งที่มองคือไทยมีความจำเป็นที่นอกเหนือจากซื้อไฟฟ้าแล้วยังเสริมบทบาทของไทยในภูมิภาคอาเซียน การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยต้องคิดไปข้างหน้าเพราะเป็นภาพลักษณ์ในประเทศด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางการไทยอาจจะต้องเข้าไปช่วยในฐานะมิตรประเทศ ในจุดๆหนึ่งการฟื้นฟูจะค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากในเขตอะตะปือ เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างห่างไกลและการเข้าถึงบุคคลค่อนข้างยาก แต่เชื่อว่าการไทยน่าจะมีความชำนาญในการฟื้นฟูพื้นที่ทำให้สามารถช่วยเหลือได้คือด้านการเกษตร และการช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น ภาวะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแน่นอนหลังจากเหตุการณ์นี้ และต้องมองว่าจะช่วยเหลืออย่างไรต่อไปในอนาคต

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ