X

กลุ่ม “LGBT” เรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม หยุดเลือกปฏิบัติ

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT เรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมและกฏหมาย หยุดการเลือกปฏิบัติในสังคม เนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันคนข้ามเพศคนรักสองเพศ ส.ส. อนาคตใหม่ เข้ารับฟังปัญหาพร้อมนำเข้าสู่สภา แม้ไทยจะยอมรับเรื่องการแต่งกาย แต่ยังขาดเรื่องกฏหมาย

(17 พ.ค. 62)สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และโครงการบีวิซิเบิลเอเซีย จัดกิจกรรมเนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันคนข้ามเพศคนรักสองเพศ หรือวัน IDAHOT (International Day against Homophobia, Transphobia and Biphobia) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ที่ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการจัดงานพร้อมกันในทุกประเทศทั่วโลกเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศและสร้างความตระหนักถึงการยุติความรุนแรงและการเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในปีนี้หัวข้อหลักในการจัดงาน คือ “ความยุติธรรมและการปกป้องสำหรับทุกคน” (Justice and Protection for all) ภายใต้การสนับสนุนของ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมีนาย เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ , นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และตัวแทนจาก สหประชาชาติ , สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย , สถานทูตอังกฤษ , สถานทูตเยอรมัน , สถานทูตเบลเยี่ยม , สถานทูตสวีเดน , สถานทูตสเปน , สถานทูตออสเตรีย , สถานทูตลักเซมเบิร์กและสถานทูตแคนนาดา รวมถึง ส.ส. ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคณะทำงาน LGBT ของพรรคอนาคตใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมรูปแบบ DIY : Do It Yourself โดยกลุ่มองค์กร ภาคีเครือข่ายต่างๆได้เปิดบูธเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานได้ลงมือ สร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ผ่านของใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดการรับรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่ม ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT นอกจากนี้ยังมีการแสดงกิจกรรมดนตรีและโชว์ต่างๆจากแขกรับเชิญพิเศษ อาทิ ชิน ภัทราปกรณ์ ชินอักษร , พิม บรรณรต The Voice Thailand , แร็พเปอร์สาว ซีโมน และ เจมี่ วิทวัส กรมณีโรจน์

นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ระบุว่า ตนเองเกิดในครอบครัวเวียดนามเชื้อสายจีน ซึ่งครอบครัวของตนเองไม่ยอมรับในเพศสภาพของตนเอง จึงเป็นแรงผลักดันให้ตนเองต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของผู้อื่น และอีกจุดเริ่มต้นหนึ่ง คือขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย ตนเองต้องการจะจัดประกวดดาวเทียม ประจำมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันศาสนา จึงไม่อนุญาตให้จัดการประกวดดังกล่าวขณะนั้นได้มีการล่ารายชื่อ และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆมากมาย แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลด้านศาสนา รวมทั้งเคยมีการวางแผนจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศในจังหวัดเชียงใหม่ แต่กลับถูกปฏิเสธเนื่องจากสภาพของผู้ร่วมงาน

นายศิริศักดิ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยได้เข้าไปช่วยนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ในการแต่งกายตามเพศสภาพระหว่างฝึกงาน แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาความดังกล่าวแต่งกายตามที่ต่างๆได้ เขาจึงเข้าไป สร้างความเปลี่ยนแปลงและช่วยเหลือนักศึกษาคนดังกล่าวโดยการ นำนักศึกษามนุษยชนให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในประเทศไทย ยังมีอีกมากมายหลากหลายกรณีที่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้ผู้ชายข้ามเพศเข้าใช้บริการร้านอาหารแห่งหนึ่งใน เมืองพัทยา หรือแม้กระทั่งกรณี ที่มิสทิฟฟานี่ไม่สามารถปฏิบัติอาชีพครูได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ประเทศไต้หวันเป็นประเทศในทวีปเอเชียประเทศแรก ที่อนุญาตให้ประชาชน เพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลาถึงเกือบ 2 ปี จึงสามารถผ่านร่างดังกล่าวได้ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2015 มีการประท้วงใหญ่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไต้หวันเพื่อเรียกร้อง ให้รัฐบาล ออกกฎหมายอนุญาตให้ มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันได้

นายศิริศักดิ์ มองว่าเรื่องนี้จะเป็นความหวัง และแรงผลักดันให้กับประเทศไทย ซึ่งทางกลุ่มเป็นผู้ที่ผลักดัน พ.ร.บ.คู่สมรส เข้าสู่สภาแต่ด้วยกระบวนการกฎหมาย ทำให้รัฐบาลตัดข้อกฎหมายสำคัญบางอย่างออกไป จากกว่า 90 มาตรา เหลือเพียง 40 กว่ามาตรา ไม่ว่าจะเป็น การรับมรดก , การโอนถ่ายทรัพย์สิน และการเซ็นรับรองในกรณีผ่าตัดฉุกเฉิน จึงทำให้ทางกลุ่มซึ่งเป็นผู้ร่างและสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการร่างกฎหมายเพื่อชะลอพระราชบัญญัติดังกล่าวให้บรรจุสาระสำคัญกลับลงไป ขณะที่ไต้หวันผ่านร่างกฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไปแล้ว เหตุใดประเทศไทยที่เรียกได้ว่าเป็นสรวงสวรรค์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลับยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว

หนึ่งในความสำเร็จที่ นายศิริศักดิ์ และกลุ่มผลักดันจนสำเร็จคือการเปลี่ยนคำนิยามในบทเรียน วิชาสุขศึกษา ของผู้ที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ จากเดิมที่ระบุว่า เป็นผู้ที่มีจิตวิปริตผิดเพศ เป็นสิ่งที่เป็นสากลและยอมรับมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้กระทรวงศึกษาบรรจุวิชาสุขศึกษาลงไปในหลักสูตร ตั้งแต่ชั้น ประถมปีที่ 1 จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 และจะมีการเริ่มใช้ในภาคเรียนใหม่ที่เปิดในเดือนนี้อีกด้วย ทั้งนี้ทางกลุ่มยังเตรียมที่จะผลักดันเรื่องอื่นๆที่ลดการเหลื่อมล้ำทางเพศอีก ไม่ว่าจะเป็น คำนำหน้านาม , ห้องน้ำที่ไม่แบ่งแยกเพศ และการเลือกปฏิบัติอื่นๆในสังคม

ด้าน 3 ส.ส. ที่มีความหลากหลายทางเพศ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ , ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส. เขต 7 จ.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ กล่าวไปในทิศทางเดียวกัน ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้ประเทศไทยมีการยอมรับเรื่องการแต่งกายแต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือเรื่องกฎหมาย รายการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้จะนำความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปในสภาเพื่อสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งภายในงานมีการร่วมกันลงชื่อสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ระบุว่า ทุกคนจะต้องมีสิทธิ์ที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หรือรูปแบบใดก็ตาม , ผู้ที่ละเมิดสิทธิ์จะต้องรับผิดทางแพ่งและทางปกครอง รวมถึงมีการแก้ไขให้หน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมและป้องกันบุคคลจากการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติสามารถร้องเรียนให้มีการแก้ไข และชดเชยเยียวยา ได้รวมถึงมีคณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ถูกเลือกปฏิบัติ

ดร.อีวา แฮเกอร์ เอกอัครราชทูตออสเตรียประจําประเทศไทย ระบุว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่ผู้ที่ป่วยทางจิต ดังนั้นจะเห็นได้จากในปัจจุบันหลายประเทศมีการเปิดกว้างให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันมีอยู่มากมายในสังคม ทั้งในประเทศไทยและในสหภาพยุโรปเอง ดังนั้นนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ที่รัฐบาลจะต้องตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนในทางสังคมและการดูถูกเหยียดหยามบางกลุ่มในสังคมที่เกิดขึ้น

เอกอัครราชทูตฟิลลิป คริเดลต้า เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจําประเทศไทย ระบุว่า รู้สึกดีใจที่ทางผู้จัดงานได้เชิญชวนเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆมาเข้าร่วมในกิจกรรมในวันนี้และหวังว่าหลังจากที่ประเทศไต้หวันได้ประกาศกฎหมายอนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเรียบร้อยแล้วประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ที่มีกฎหมายนี้

เอกอัครราชทูตเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจําประเทศไทย ระบุว่า ตราบใดที่เรายังคงให้การศึกษาบุตรหลานให้รับรู้ถึงการมีอยู่และความเท่าเทียมกันของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็จะเป็น เรื่องที่ดี ที่จะทำให้มีการเปิดกว้างมากขึ้น ดั่งข้อความหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ภายในงานที่ระบุว่า “ไม่ควรมีเด็กคนใดถูก รังเกียจเพราะมีความเบี่ยงเบนทางเพศ” การที่เหล่าทูตและอุปทูตมารวมตัวกันอยู่ที่งานในวันนี้ถือเป็นแรงผลักดันที่ดีและสำคัญในการสร้างการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศได้เป็นอย่างดี

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

ผู้ประกาศข่าว รายการ 77 ข่าวเด็ด ช่อง FIVE Channel HD / ผู้สื่อข่าว การเมืองและสังคม เว็บไซต์ 77ข่าวเด็ด และผู้สื่อข่าวออนไลน์ BrickinfoTV.com